"สุขภาพ" ไม่ใช่เพียงการปราศจากโรค แต่เป็นสมดุลแห่งความสมบูรณ์ทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม เป็นภาวะที่มนุษย์ทุกคนปรารถนา แต่ไม่อาจสำเร็จได้ด้วยระบบบริการทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว
วันนี้ เราเผชิญกระแสคลื่นแห่งภัยคุกคามสุขภาพที่ถาโถมเข้ามาอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ทั้งโรคอุบัติใหม่ วิกฤตสภาพภูมิอากาศ สังคมเมืองที่ขยายตัว ผลกระทบจากเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ
รัฐบาลกลางและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่อาจแบกรับภาระอันหนักหน่วงนี้เพียงลำพัง การแก้ปัญหาด้วย "สูตรสำเร็จ" แบบเดียวกันทั่วประเทศไม่อาจตอบโจทย์พื้นที่ที่มีบริบทแตกต่างกัน
การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นดูแลสุขภาพของประชาชนจึงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็น "ทางรอด" ของระบบสุขภาพไทย
--- พลังท้องถิ่น: รากฐานสุขภาวะยั่งยืน ---
ใครจะเข้าใจปัญหาและความต้องการของชุมชนดีไปกว่าคนที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น? ใครจะรู้จักภูมิปัญญา วัฒนธรรม และทุนทางสังคมของพื้นที่ดีไปกว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชน?
ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีภารกิจสำคัญในการจัดบริการสาธารณะเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านสุขภาพที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาคุณภาพชีวิต
อบต. และ เทศบาล ซึ่งอยู่ใกล้ชิดประชาชนที่สุด มีบทบาทโดยตรงในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลความสะอาด การจัดการขยะ การส่งเสริมกิจกรรมออกกำลังกาย การควบคุมโรคในพื้นที่ การดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการในชุมชน รวมถึงการจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของชุมชนตนเอง
อบจ. ที่ปัจจุบันรับโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กว่า ๔,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศ มีบทบาทสำคัญในการประสานงานและสนับสนุนการทำงานของ อบต. และเทศบาล เพื่อให้เกิดการบูรณาการงานด้านสุขภาพในระดับจังหวัด ทั้งการพัฒนาศักยภาพบุคลากร การจัดหาเครื่องมือและเทคโนโลยีที่จำเป็น การพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพ และการสร้างนวัตกรรมด้านสุขภาพที่ตอบโจทย์พื้นที่
ระบบสุขภาพท้องถิ่นที่เข้มแข็งจึงเป็นดั่งเกราะป้องกันแนวหน้าที่สามารถตอบสนองวิกฤตสุขภาพได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด เพราะอยู่ใกล้ชิดปัญหา ช่วยเสริมพลังประชาชนให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพในชุมชนของตนเอง ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มักถูกมองข้าม ตลอดจนผสานพลังทุกภาคส่วนในพื้นที่ให้ร่วมขับเคลื่อนงานสุขภาพอย่างเป็นเอกภาพ
แต่ศักยภาพอันยิ่งใหญ่นี้จะไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากเรายังไม่ได้ถอดรหัส "การทำงานแบบแยกส่วน" ที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมานาน
--- ถึงเวลาเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำงาน ---
แม้มีความก้าวหน้าในการถ่ายโอนภารกิจด้านสาธารณสุขสู่ท้องถิ่น แต่เราไม่อาจปฏิเสธความจริงที่ว่า ระบบสุขภาพท้องถิ่นของไทยยังเผชิญความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรกระจุกตัวในเมืองใหญ่ ขณะที่พื้นที่ห่างไกลยังขาดแคลนอย่างรุนแรง งบประมาณและทรัพยากรจำกัดไม่สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้น
รวมถึงการแบ่งแยกระบบข้อมูลทำให้ขาดภาพรวมในการวางแผนและตัดสินใจ วัฒนธรรมการทำงานแบบต่างคนต่างทำยังฝังลึกในหน่วยงานรัฐ และ อปท.หลายแห่งยังขาดความมั่นใจและประสบการณ์ในการบริหารจัดการงานสุขภาพ
คำถามสำคัญที่ต้องตอบให้ได้คือท่ามกลางข้อจำกัดมากมาย เราจะสร้างระบบสุขภาพท้องถิ่นที่เข้มแข็งได้อย่างไร ?
คำตอบอยู่ที่การเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยอาศัยพลังสร้างสรรค์แห่งการทำงานร่วมกัน หรือที่เรียกว่า "การสานพลัง"
อ่าน E-book https://www.nationalhealth.or.th/public/storage/ebook/17dc35e9-8a31-4d46-b000-2bcbaad53615/