องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในประเทศไทยมีวิวัฒนาการมายาวนานถึง 120 ปี เริ่มตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะตำบลท่าฉลอมเป็น “สุขาภิบาลท่าฉลอม” ในวันที่ 18 มีนาคม 2448 (ร.ศ. 124) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจการปกครองให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง อันนำไปสู่การวางรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย
มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 22 มิถุนายน 2553 กำหนดให้วันที่ 18 มีนาคมของทุกปี เป็นวันท้องถิ่นไทย
มีกฎหมายต่อเนื่องมาหลายฉบับ พระราชบัญญัติการดำเนินการสุขาภิบาล พ.ศ. 2450 พระราชบัญญัติการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ทำให้เกิดสุขาภิบาลเมืองและสุขาภิบาลตำบล พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 พระราชบัญญัติกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 รวมทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 20 ฉบับ ที่ต่างก็ให้ความสำคัญกับการปกครองส่วนท้องถิ่น
ปัจจุบันมี อปท. 7850 แห่ง แบ่งเป็น องค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง เทศบาล 2469 แห่ง (เทศบาลนคร 30 เทศบาลเมือง 192 เทศบาลตำบล 2247) องค์การบริหารส่วนตำบล 5,303 เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร
อปท. ทุกระดับมีการพัฒนาไปมาก ระยะแรกมุ่งไปที่โครงสร้างพื้นฐาน ต่อมาเริ่มมุ่งไปที่การพัฒนาคุณภาพชีวิต มีโรงเรียนดีๆ ที่สังกัดท้องถิ่น ในส่วนของระบบสุขภาพ ระยะแรกที่ให้ถ่ายโอนสถานีอนามัยและ รพ.สต. ไป อบต. หรือเทศบาล เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2551 กระทั่งถึง พ.ศ.2565 ถ่ายโอนได้เพียง 84 แห่ง มีการปรับแก้ให้ถ่ายโอนไป อบจ. ในปี 2566 ถ่ายโอนไป 3,263 แห่ง ปี 2567 อีก 934 แห่ง และปี 2568 อีก 256 แห่ง โดยมี อบจ.ที่รับการถ่ายโอน 63 อบจ. ในจำนวนนี้มี 15 อบจ.ที่รับถ่ายโอน รพ.สต. ทั้งหมด ๑๐๐% ขณะที่บุคลากรประมาณครึ่งหนึ่งไม่สมัครใจไปอยู่ อบจ. ยังคงอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข ทำให้ขาดแคลนบุคลากรใน รพ.สต. ที่สังกัด อบจ. ส่งผลถึงการจัดบริการสุขภาพในพื้นที่ แต่หลายๆ ที่ก็สามารถแก้ปัญหาพัฒนาไปได้ดี
มีความเห็นแตกต่างกันอยู่บ้าง ฝั่งฝ่ายที่สนับสนุนการถ่ายโอนก็บอกว่าถ้ากระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนทรัพยากรเหมือนก่อนถ่ายโอน เช่น ให้บุคลากรไปช่วยราชการ ให้แพทย์จาก รพช.ไปตรวจที่ รพ.สต.ต่อไป ประชาชนจะได้รับบริการที่ดีขึ้น ส่วนฝั่งฝ่ายที่ไม่สนับสนุนการถ่ายโอนก็บอกว่า อบจ. ยังไม่มีความพร้อม อาจกระทบต่อประชาชนที่ควรจะได้รับบริการสุขภาพที่มาตรฐาน
จะรอให้พร้อมแล้วจึงถ่ายโอน ก็ไม่มีวันพร้อม มีคนเปรียบเหมือนคู่บ่าวสาวหากจะรอให้พร้อมมีหน้าที่การงานดี มีรายได้ดี มีบ้าน มีรถ ชาตินี้อาจจะไม่ได้แต่ง แต่ถ้าดูแล้วไปกันได้ ขาดเหลือค่อยช่วยกันหาเพิ่ม พ่อแม่คู่บ่าวสาวช่วยเหลือสนับสนุนบ้าง ก็จะสร้างครอบครัวที่มั่นคงได้
การถ่ายโอน รพ.สต. มาถึงเวลานี้คงต้องมาช่วยกันคิดช่วยกันทำแต่ละองค์กรจะร่วมสนับสนุนอะไรได้บ้าง โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ใช้พื้นที่เป็นฐาน บูรณาการทุกภาคส่วน ปรับวิธีคิดวิธีทำจาก command & control เป็น collaboration & synergy ประสานความร่วมมือสานพลังกันแทนการควบคุมสั่งการ เสริมสร้างประชาชนให้เรียนรู้และมีส่วนร่วม (engaged citizen) มุ่งเป้าหมายเดียวกันให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น เชื่อมั่นว่า อปท.ท้องถิ่นทำได้อย่างแน่นอน
ตามกฎหมายให้บทบาทหน้าที่ของ อปท. ไว้มากมายหลายอย่าง ผู้นำ อปท. บอกว่ากระจายภารกิจความรับผิดชอบ แต่ยังไม่ได้กระจายอำนาจไม่ได้กระจายทรัพยากรไปให้สมดุลกัน
ในระยะยาวต้องมาทบทวนเชิงโครงสร้าง ประเทศไทยมี อปท.จำนวนมาก อีกทั้งแบ่งการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ในญี่ปุ่นหรือประเทศพัฒนาแล้ว จะมีแต่ส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น จำนวน อปท. มีขนาดใหญ่พอควรไม่แตกแยกย่อยแบบประเทศไทย ประสบการณ์ในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น แรกเริ่มก็มี อปท. จำนวนมาก ต่อมาได้ควบรวมเหลือจำนวนน้อยลง เกิดประสิทธิภาพ (economy of scale) รองรับการถ่ายโอนภารกิจทำอะไรต่างๆ ได้มากมาย
เป็นทิศทางการพัฒนาประเทศ ส่วนกลางจะมีขนาดเล็กลง ส่วนท้องถิ่นเติบโตขึ้น ภาคประชาชนเข้มแข็งขึ้น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม มีบทบาทมากขึ้น
เชื่อมั่นนะครับ ท้องถิ่นทำได้