ที่ประชุม NCITHS ร่วมหารือนัดพิเศษ ถกประเด็นผลกระทบจากมาตรการเพิ่มภาษีของสหรัฐอเมริกา มองประเด็นสำคัญคือความเข้มข้นของ “กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า” ต้องสร้างความเชื่อมั่น ป้องกันการสวมรอยสินค้าจากประเทศอื่น ด้านผลกระทบต่อสุขภาพกังวลการนำเข้า “เนื้อหมู” ที่ใช้สารเร่งเนื้อแดง อาจปั่นป่วนระบบการควบคุมคุณภาพ-มาตรฐานการผลิตในไทย ขณะที่อุตสาหกรรม “ยา” คาดอาจยังกระทบไม่มาก
เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2568 คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (NCITHS) ซึ่งมี ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ เป็นประธาน จัดการประชุมวาระพิเศษ เพื่อหารือแลกเปลี่ยนผลกระทบจากมาตรการปรับเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อประเทศไทย ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เข้าร่วมแลกเปลี่ยนหารือผ่านระบบออนไลน์
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ของมาตรการทางการค้าสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ซึ่งพบว่ามีความไม่แน่นอนสูง และมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องมีการร่วมกันติดตามอย่างใกล้ชิด รวมทั้งคาดการณ์ถึงฉากทัศน์ที่อาจเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ อย่างไรก็ตาม จากการประเมินถึงความคืบหน้าล่าสุดที่สหรัฐอเมริกา มีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มไปแตะระดับ 145% จึงเชื่อว่าทางออกของเรื่องนี้ น่าจะเป็นการที่ประเทศมหาอำนาจทั้งสอง ต้องเข้าสู่กระบวนการเจรจา เพื่อดูว่าแต่ละฝ่ายจะสามารถประนีประนอมกันได้มากน้อยเพียงใด
ขณะเดียวกัน แม้ในเบื้องต้นจะประเมินได้ว่าเป้าหมายของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา น่าจะเป็นการพุ่งเป้าไปที่ประเทศจีนเป็นหลัก ส่วนมาตรการขึ้นภาษีประเทศอื่นๆ นั้นจะเป็นการกดดันทางอ้อมเพื่อกลับมาบีบประเทศจีนอีกทีหนึ่ง แต่ถึงอย่างไรก็เชื่อว่าทางสหรัฐอเมริกาเอง ยังมีเป้าหมายในการสะสางเรื่องที่ต้องการจะแก้ไขมานานกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอุดช่องโหว่ของการสวมรอยสินค้าจากประเทศหนึ่ง ที่ไปส่งออกในฐานะสินค้าของอีกประเทศหนึ่ง
ดังนั้นหนึ่งในประเด็นสำคัญซึ่งที่ประชุมได้มีการหารืออย่างกว้างขวาง คือประเด็นที่เกี่ยวกับ กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rule of Origin) และกระบวนการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin : C/O) ซึ่งถือเป็นกลไกหนึ่งที่ประเทศไทยจำเป็นจะต้องเพิ่มความเข้มข้นให้มากขึ้น รวมไปถึงข้อห่วงกังวลของสินค้าจากประเทศจีน ที่อาจมีการไหลทะลักเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น หลังถูกตั้งกำแพงภาษีจากสหรัฐอเมริกา จึงต้องมีมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาคธุรกิจภายในประเทศไทย
ในส่วนของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบสุขภาพ ที่ประชุมได้ให้น้ำหนักของการหารือไปถึงประเด็นของการนำเข้าสินค้าปศุสัตว์และการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเนื้อหมู ที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าที่สหรัฐอเมริกามีความต้องการนำเข้ามาในประเทศไทย แต่หากไทยยอมรับ ก็จะต้องกลับมาแก้ไขกฎหมายในประเทศที่มีการควบคุมการใช้สารเร่งเนื้อแดง ซึ่งจะส่งผลไปถึงการสกัดกั้นสินค้าจากประเทศอื่นๆ รวมไปถึงมาตรฐานการตรวจสอบและการผลิตภายในประเทศ กลายเป็นความเสี่ยงของผู้บริโภคที่จะจัดการได้ยากขึ้น
ในขณะที่สินค้าทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นประเด็นในแง่ของผลผลิตดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) หากแต่ประเด็นที่มีความสำคัญมากกว่า คือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มเกษตรกรในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลเองจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือ หากสุดท้ายแล้วจำเป็นที่จะต้องเปิดรับการนำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม ในส่วนข้อกังวลต่อผลกระทบของอุตสาหกรรมยา พบว่าอาจมีผลกระทบไม่มาก เนื่องจากประเทศไทยมีการนำเข้ายาจากสหรัฐอเมริกาในสัดส่วนที่น้อย โดยหากเป็นในส่วนของยาสามัญ (Generic drugs) ที่มีการนำเข้าไม่มากเพียงไม่ถึง 10% ส่วนใหญ่จะเป็นการส่งออก แต่จำนวน 70-80% ส่งออกไปในประเทศอาเซียน ในขณะที่ยาต้นแบบ (Original drugs) ที่ส่วนใหญ่จะต้องนำเข้า พบว่าปัจจุบันสหรัฐอเมริกาเองมีฐานการผลิตส่วนใหญ่อยู่นอกประเทศ จึงนำเข้าจากประเทศจีน หรืออินเดีย เป็นหลัก ซึ่งหากสหรัฐอเมริกามีแผนที่จะย้ายฐานการผลิตกลับสู่ประเทศก็คงจะต้องใช้เวลา
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้มีการสะท้อนถึงข้อกังวล ตลอดจนข้อเสนอในอีกหลายประเด็น เช่น ความกังวลในแง่ที่ว่าหากรัฐบาลถูกกดดัน แล้วอาจนำไปสู่การเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ฉบับต่างๆ ที่ประเทศไทยอาจถูกบังคับให้ต้องยอมรับเงื่อนไขบางประการ ที่จะนำไปสู่ผลกระทบต่อการเข้าถึงยา การเข้าถึงระบบสุขภาพได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีความรอบคอบในเรื่องนี้ รวมถึงการที่ประเทศไทยควรจะใช้โอกาสนี้ในการทบทวนมาตรการและโครงสร้างภาษีกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ ด้วย เป็นต้น
ด้าน ดร.ชะเอม พัชนี ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการ NCITHS กล่าวว่า ข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับจากการประชุมในวันนี้ พบว่าภายใต้สถานการณ์ที่มีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ทาง NCITHS จำเป็นจะต้องติดตามและมีการหารือร่วมกันบ่อยขึ้น รวมถึงการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการจัดทำฉากทัศน์ และหามาตรการเตรียมการรองรับ เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการดำเนินงานของผู้แทนไทยที่จะนำไปเจรจาอีกครั้ง ขณะเดียวกันยังเตรียมที่จะมีการจัดเวทีสาธารณะ เพื่อให้เกิดการหารือประเด็นสำคัญป็นวงกว้างและได้ข้อมูลเพื่อเสนอภาคนโยบาย และนำเสนอข้อมูลออกสู่สาธารณะต่อไป
อนึ่ง คณะกรรมการ NCITHS เป็นกลไกที่เกิดขึ้นตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2551 ให้มีขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการติดตามการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) พร้อมมีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กลุ่มงานการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ (ITH) และภาคีเครือข่ายต่างๆ ร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน
ที่มา : www.thecoverage.info/news/content/8590