สช. เดินหน้าจับมือภาคีเครือข่าย Non Health sector ร่วมขับเคลื่อนงานใน 4 ภาค 8 จังหวัด เสริมกำลังสาธารณสุขเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ


VIEW:  104   SHARE:0    
เผยแพร่โดย: 
 NANTHIYA L.

 
เมื่อวันที่ 10 – 11 มีนาคม 2568 สช.จัดการประชุมออกแบบการสร้างมาตรการจังหวัดในการจัดการโรคไม่ติดต่อ (NCDs Ecosystem) ณ ห้องแคนนา โรงแรมรามาการ์เด้น หลักสี่ กรุงเทพฯ
 
 
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
1.ทำความเข้าใจหลักการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ NCDs
2.ระบุปัญหาและความท้าทายในการจัดการด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่ติดต่อ NCDs
3.หารือแนวทางการขับเคลื่อน บทบาทหน้าที่ขององค์กรที่เกี่ยวข้อง และการแก้ไขปัญหาด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
 NCDs ระดับจังหวัด
 
ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 50 คน ประกอบด้วยทีมวิชาการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วยการสานพลังสร้างสุขภาวะทางกายภาพและสังคม เพื่อลดโรคไม่ติดต่อ นำโดย นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะทำงานฯ รศ. นพ.เพชร รอดอารีย์ นายก สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อแห่งประเทศไทย , นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด , นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม สสส. , ดร.ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฎ์ และตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทน รพ.สต. สสจ. แกนนำภาคประชาสังคม รวมทั้งแกนสมัชชาสุขภาพจังหวัด 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน จังหวัดชัยนาท จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดตราด จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดยะลา
 
 
นพ.โสภณ เมฆธน กล่าวถึงการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ NCDs Ecosystem เนื่องจาก NCDs ในประเทศไทยมีการดำเนินงานมานานแต่ไม่สำเร็จเพราะทำแต่ภาคสาธารณสุข จึงถือได้ว่า NCDs เป็นเรื่องยากทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมี 5 ส่วนสำคัญ คือ 1.ภาคีเครือข่าย 2. องค์ความรู้และข้อมูล 3.การจัดสภาพแวดล้อมทางสังคม (การเข้าถึง) 4. แรงจูงใจ 5.ความสามารถ โดยมี 2 ปัจจัยสำคัญคือ 1.ปัจจัยเอื้อ ( สถานที่ออกกำลังกายที่เพียงพอ/อาหารที่ดีต่อสุขภาพ ชุมชน) และ 2.ปัจจัยเสริม กลุ่มคน/ชุมชน และข้อกฎหมาย มาเป็นการชักจูง/แรงจูงใจ ซึ่งก็คือ Ecosystem ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลด NCDs
 
โดยในระดับพื้นที่หัวใจสำคัญสำหรับการดำเนินงาน คือ
• การสร้างผู้นำในทุกระดับ โดยมุ่งสร้าง Change Agent ในจังหวัด การสร้างคนรุ่นใหม่
• การทำให้เกิดนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงใหม่ๆ
• การติดตามและประเมินผลการทำงานที่เกิดขึ้นโดยใช้ข้อมูลนำ
 
นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวถึง โรคไม่ติดต่อที่ทุกคนมองเห็นว่าเป็นปัญหาร่วมและเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำได้ยาก จึงต้องมีการดำเนินงานร่วมกันของหลายภาคส่วน สิ่งสำคัญคือการสานพลังโดยใช้นโยบายสาธารณะ ซึ่ง สช.มีการดำเนินงานอยู่ร่วมกับตระกูล ส. โดยกำหนดเป้าหมายร่วม ยุทธศาสตร์ร่วมของประเทศไทย โดยมีการแบ่งปันข้อมูลงานและข้อมูลทุนทางสังคมในการเดินงานขับเคลื่อนร่วมกันในระดับนโยบายองค์กร
 
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงแนวทางสร้างเสริมวิถีสุขภาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง NCDs ในระดับพื้นทิ่ โดยใช้ “รูบิกสุขภาพทางเลือกดำเนินการ 3 มิติ” ในการวิเคราะห์ทั้งสิ่งที่ดำเนินการและแนวทางการทำงาน คือ 1.กิจกรรมตามนโยบาย/การให้ความรู้/ข้อมูล/การสื่อสาร 2. Setting ต่างๆ ที่ดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่อาทิ ชุมชน/โรงเรียน/สถานประกอบการต่างๆ ฯ 3.ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรค
 
ดร.ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฎ์ ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ กรมอนามัย และ ประธานคณะทำงานวิชาการสมัชชาเฉพาะประเด็นฯ กล่าวถึงหัวใจสำคัญของการสร้าง Ecosystem เพื่อลด NCDs คือ หลักการ 3:5:5 คือ 3 หลักการสำคัญ (กลไกการคลัง , กลไกเครดิตทางสังคม และ หลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม) 5 ระบบกลไกหนุนเสริม อาทิ การมีนโยบาย มาตรฐาน สนับสนุน การสนับสนุนระบบเฝ้าระวัง และ 5 มาตรการหลัก Areas of action อาทิ การลดการเข้าถึงสินค้าทำลายสุขภาพ
 
 
 
นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวถึง เส้นทางการขับเคลื่อนโรคไม่ติดต่อของประเทศไทย โดยใช้แผนปฏิบัติการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อของประเทศไทย (ปี 2566-2570) โดยมีเป้าลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชาชนที่เป็นโรค NCDs ลดลงร้อยละ 25 ภายในปี 2570 ซึ่งมี 3 ยุทธศาสตร์สำคัญคือ 1.การบูรณาการเครือข่าย 2.การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ และการตระหนักรู้ 3.การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการจัดการ NCDs ของประเทศไทย
ทั้งนี้วันที่ 2 ของการประชุมได้รับเกียรติจาก
รศ. นพ.เพชร รอดอารีย์ คณะอนุกรรมาธิการพัฒนาระบบบริการสาธารณะสุข การส่งเสริมป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ และ นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นและแลกเปลี่ยนเติมเต็มให้พื้นที่ กล่าวถึง soft power คือ การใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรม การกิน ดื่ม วิถีชีวิต หรือความเชื่อนำเสนอผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ เพื่อโน้มน้าวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องการปรับพฤติกรรมได้ เป็นอัตลักษณ์สำคัญของชุมชนในการสร้างความยั่งยืน และอยากให้มองไปถึงการสร้าง Blue Zone คือที่ที่มีประชากรมีอายุยืนยาว และสุขภาพดีได้ โดยต้องมีการตั้งคณะกรรมการคอยกำกับและช่วยติดตาม
นายสมเกียรติ พิทักษ์กมลพร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สช. กล่าวถึง แนวทางและจังหวะก้าวการทำงานสนับสนุนการสร้างมาตรการลดโรคไม่ติดต่อในจังหวัดที่จะดำเนินการควบคู่กันไปทั้งส่วนกลางและส่วนพื้นที่เพื่อหนุนเสริมกลไกทำงานและสร้างการขับเคลื่อนในพื้นที่ไปด้วยกัน
 
 
ปิดท้ายการประชุมโดย นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึง NCDs ที่ผ่านมามีการช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างมากมาย ซึ่งควรดำเนินการเพื่อ 1.การต่อยอด จากสิ่งที่ทำมาให้ดีขึ้น 2.การขยายผล ทำให้ครอบคลุมทุกด้าน ทุกมิติ 3.มองหาช่องว่างที่จะเข้าไปปิดและแก้ไขเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้ คาถา NCDs 3 ก. คือ เกาะติด,เกาะแน่น,และเกาะนาน
 
Next step: 8 จังหวัดที่ร่วมประชุม จะมีการแลกเปลี่ยนวิธีการทำงานแบบข้ามภาค ทั้งส่วนของต้นทุน กลไก และการสนับสนุนจากส่วนกลาง หน่วยงานกลางและทีมวิชาการกลางที่พร้อมสนับสนุนในพื้นที่ รวมถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการวางจังหวะก้าวต่อเพื่อเตรียมสร้างมาตรการจังหวัดใน 8 พื้นที่ต้นแบบโดยมีเป้าหมายสำคัญคือการผลักดันให้เป็นนโยบายสำคัญของจังหวัดต่อไป
ขอขอบคุณเครือข่ายภาคีทั้ง 8 จังหวัดและผู้ประสานงาน สช.ทั้ง 4 ภาค ที่มาร่วมขับเคลื่อนงานไปด้วยกัน

NHCO Q&A