![]() |
|
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม 2568 ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ มีการประชุมหารือร่วมระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และทีมสมัชชาสุขภาพจังหวัดกระบี่
🎯 เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาโจทย์วิจัยหาช่องว่างของความรู้ (Knowledge gap) และเป้าหมายร่วมในการ พัฒนาพื้นที่นำไปสู่การยกระดับการบริหารจัดการจังหวัดกระบี่กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดแนว ทางการดำเนินงานร่วมกัน และนำไปสู่การพัฒนาโจทย์วิจัยเกี่ยวกับการขับเคลื่อน “การพัฒนาจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” (อบจ. ววน.) ในระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) สู่ระบบบริการสุขภาพทางไกลบูรณาการ (Telehealth)
โดยมี รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโปรแกรมวิจัย และผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย และนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและยกระดับขีดความสามารถ ในการจัดการภาครัฐและท้องถิ่น หน่วย บพท. นำเสนอประสบการณ์ภาพรวมและชุดความรู้พร้อมใช้ในการพัฒนาพื้นที่
ด้าน นพ.ธีรวัฒน์ สกุลมานนท์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกระบี่ ร่วมให้ข้อมูลด้านระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) ที่จังหวัดกระบี่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ โดยมุ่งเน้นเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ปีที่ผ่านมาให้บริการกว่า 2,573 ครั้ง ผ่าน LINE call ซึ่งยังต้องมีการพัฒนาอีกหลายด้านเพื่อให้บริการอย่างครอบคลุม
ขณะเดียวกัน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้นำเสนอประสบการณ์ แนวนโยบาย และชุดความรู้ในการพัฒนาด้านสุขภาพปฐมภูมิในระดับพื้นที่ พร้อมหารือเพื่อใช้นวัตกรรมระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) สู่สถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในจังหวัดกระบี่ โดยจะมีทีมสมัชชาสุขภาพจังหวัดจะเข้าไปช่วยเอื้ออำนวยความสะดวกในช่วงการค้นหาความต้องการด้านสุขภาพ (Health need) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine)
ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ กิตติธรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ได้กล่าวว่าระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ อบจ.กระบี่ต้องดำเนินการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่ การแบ่งปันทรัพยากรร่วมกันระหว่างหน่วยงานทั้งภายใน และภายนอกจังหวัดเป็นเรื่องที่ดี และทาง อบจ. พร้อมดำเนินการทันที
➡️ ที่ประชุมได้ร่วมกำหนดระยะเวลาการดำเนินการพัฒนาระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีเวลาดำเนินการ 12 เดือน ใน 20 พื้นที่นำร่อง
▪️เดือนที่ 1 -2 ตั้งคณะทำงาน ทีมวิจัยลงพื้นที่สำรวจข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชน และอุปกรณ์ต่างๆ
▪️เดือนที่ 3 – 6 ลงปฏิบัติการในพื้นที่ ทดสอบการใช้ระบบ และให้บริการคู่ขนาน
▪️เดือนที่ 7 – 12 พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย