ถ่ายรูปผู้ป่วยในโรงพยาบาล ผิดกฎหมายหรือไม่ 


VIEW: 5   SHARE: 0    

ไพศาล  ลิ้มสถิตย์

กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ข่าวดังเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๗ พ่อแชร์ประสบการณ์สุดช็อก ลูกแรกเกิดถูกสลับตัว เกือบได้ไปอยู่พม่า เอะใจขอตรวจ DNA ผู้บริหาร รพ.ยอมรับผิดพลาดจริง .... ถือเป็นความโชคดีที่คุณพ่อเด็กได้แอบถ่ายรูปลูกของตนเองไว้ทุกวัน แม้ว่าจะฝ่าฝืนระเบียบของโรงพยาบาลที่ห้ามถ่ายรูป

 

ข้อห้ามถ่ายรูปผู้ป่วยของญาติหรือผู้ป่วยในโรงพยาบาล

ปัจจุบันคนไทยนิยมใช้สมาร์ทโฟนถ่ายรูปตนเองหรือญาติ ถือเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่หากท่านเข้าไปโรงพยาบาลของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลอื่นๆ หากญาติผู้ป่วยถ่ายรูปผู้ป่วยในห้องพัก มักจะถูกบุคลากรใน รพ.ห้ามไม่ให้ถ่าย หรือมักพบเห็นป้ายขึ้นข้อความว่า ห้ามถ่ายภาพผู้ป่วย โดยระบุว่าหากนำไปเผยแพร่ โดยไม่ได้รับอนุญาตและเกิดความเสียหาย จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยมีโทษทั้งจำและปรับ โดยอ้างถึง มาตรา แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ .. ๒๕๕๐ 

กรณีคุณพ่อตามข่าวที่แอบถ่ายรูปลูกสาวแรกเกิดของตนที่อยู่ในห้องอภิบาลเพราะเด็กต้องให้ยาฆ่าเชื้อเป็นเวลา ๗ วัน แล้วส่งรูปถ่ายให้คุณแม่และญาติๆ ดูทุกวันที่คุณพ่อรายนี้ไปเยี่ยมลูก จนกระทั่งวันที่รับลูกกลับบ้าน คุณพ่อรายนี้และญาติเห็นเกิดความสงสัยว่า ลูกทำไมหน้าเปลี่ยนไปจากที่ถ่ายรูปไว้ จึงได้โทรไปสอบถามโรงพยาบาลอีกครั้งว่า ผมสงสัยว่าไม่ใช่ลูกของตน ทำไมผมสั้นลงคิ้วหายไป เจ้าหน้าที่ รพ.แจ้งว่าเด็กหน้าเปลี่ยนทุกวัน 

พ่อเด็กรายนี้ทนไม่ไหวเลยโพสต์ลงในกลุ่มให้เพื่อนๆ ดูว่าเด็กในรูปคนเดียวกันไหม ส่วนใหญ่บอกว่าคนละคน แนะนำให้ไปโรงพยาบาลขอตรวจ DNA ทาง รพ.ตรวจกรุ๊ปเลือดของครอบครัวคนไทยและคนพม่าที่เกิดในเวลาใกล้กัน จนพบข้อสงสัย จึงมีการส่งตรวจ DNA พบว่ามีการสลับตัวเด็กจริง ผู้บริหารรพ.กระทุ่มแบนได้ออกมายอมรับผิดและขอแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด มีการให้ยาฆ่าเชื้อแก่เด็กทั้งสองรายที่ไม่ตรงตามที่แพทย์สั่ง รพ.จึงเยียวยาให้ครอบครัวละ ๑ แสนบาท

 

กฎหมายและแนวปฏิบัติต่างประเทศ

          ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย การถ่ายรูปผู้ป่วยของผู้ป่วยหรือญาติในโรงพยาบาลที่ไม่ส่งผลเสียต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานของบุคลากร ถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้ ทั้งนี้ จะต้องปฏิบัติตามนโยบายของ รพ.แห่งนั้นด้วย เช่น จะต้องไม่รบกวนการทำงานของแพทย์ พยาบาล สำหรับการถ่ายรูปในแผนกทารกแรกเกิดหรือแม่หลังคลอดเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เป็นเรื่องสิทธิส่วนตัว ไม่ได้ส่งผลเสียต่อผู้ป่วย รพ.ส่วนใหญ่จึงไม่มีข้อห้ามในเรื่องนี้ รพ.บางแห่งสนับสนุนในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องน่ายินดีของคนในครอบครัว     

"มาตรา 7"  ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่ากรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการหรือกฎหมายอื่นเพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้

 

ข้อกฎหมายในการถ่ายรูปผู้ป่วยในโรงพยาบาล

โรงพยาบาลสามารถออกระเบียบเกี่ยวกับการถ่ายรูปหรือคลิปใน รพ.ได้ แต่การห้ามผู้ป่วยหรือญาติถ่ายรูปตนเองใน รพ.โดยอ้างว่าทำผิดมาตรา พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง และควรแก้ไขเนื้อหาคำเตือนดังกล่าว เนื่องจากผู้ป่วยอนุญาตให้ถ่ายรูปตนเอง หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่ไม่ได้สติหรือเป็นเด็กทารก ญาติก็มีสิทธิที่จะถ่ายรูปผู้ป่วยได้ ไม่มีข้อห้ามทางกฎหมาย และไม่ถือว่าผิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ๒๕๖๒ แต่อย่างใด เนื่องจากเข้าข้อยกเว้นมาตรา ๔ ในเรื่องการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลที่ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัวของบุคคล และมิได้สร้างความเสียหายแก่ผู้ป่วยที่เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

          อย่างไรก็ดี การถ่ายภาพหรือบันทึกคลิปบุคลากรทางการแพทย์ในขณะทำการรักษาผู้ป่วยโดยไม่ได้รับความยินยอม เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม อาจเป็นการรบกวนการทำงานของแพทย์ พยาบาล ละเมิดความเป็นส่วนตัว จนท.รพ.สามารถแจ้งให้ยุติการกระทำหรือขอให้ลบภาพถ่าย คลิปได้ ส่วนการยึดมือถือหรือกล้องไปนั้น ยังไม่มีกฎหมายให้อำนาจในเรื่องนี้ แต่สามารถแจ้งผู้บริหาร รพ.ให้ทราบเรื่องได้  

ผู้ป่วยหรือญาติที่ถ่ายรูปหรือ live ออนไลน์ ควรใช้สมาร์ทโฟนอย่างมีสติ มีความเกรงใจ เคารพสิทธิของผู้อื่น หรือการโพสต์รูปผู้ป่วยเองหรือญาติในช่องทางสาธารณะ ก็ควรระมัดระวังเพราะอาจถูกมิจฉาชีพนำไปใช้ จนเกิดความเสียหายได้     

ในทางกลับกัน บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องการถ่ายภาพหรือบันทึกคลิปผู้ป่วย ก็จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ป่วยหรือญาติก่อนเช่นกัน และไม่ควรนำไปเผยแพร่ให้บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วย เพราะอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องและจริยธรรมในการรักษาความลับข้อมูลของผู้ป่วย ยกเว้นจะมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในรักษาผู้ป่วย หรือหากใช้ในการเรียนการสอน ก็ควรปกปิดใบหน้าหรือทำให้ไม่สามารถระบุตัวผู้ป่วยได้

 

แนวปฏิบัติด้านข้อมูลสุขภาพของบุคคลตามมาตรา ๗ 

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ควรทำหนังสือชี้แจงเนื้อหาของมาตรา แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติในเรื่องการถ่ายรูปผู้ป่วยในโรงพยาบาล แจ้งเวียนให้ไปยังปลัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลรัฐในสังกัดหน่วยงานอื่น และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ป้องกันปัญหาการตีความกฎหมาย

ตัวอย่างเช่น ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลควรมีขอบเขตเพียงใด เนื่องจากมิได้มีคำนิยามบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ  ผู้เขียนจึงเห็นว่า ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพบุคคล ควรหมายถึง ข้อมูลซึ่งสามารถทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ถึงแก่กรรม เช่น ข้อมูลเวชระเบียน ประวัติสุขภาพผู้ป่วยหรือผู้รับบริการสาธารณสุข ข้อมูลทางคลินิกของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัย การตรวจรักษาและการพยากรณ์โรค ข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพทางกาย ทางจิต และทางสังคมของผู้ที่ระบุตัวบุคคลได้ 

เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ และกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลในต่างประเทศ ที่กำหนดให้ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ถึงแก่กรรมเป็นข้อมูลส่วนบุคคลด้วย เช่น กฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกา กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป  ในขณะที่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ๒๕๖๒ กำหนดนิยามข้อมูลส่วนบุคคล ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมนั้น เป็นการบัญญัติที่ขาดความเหมาะสม เนื่องจากผู้ร่างกฎหมายอาจขาดข้อมูลหรือขาดความเข้าใจเรื่อง General Data Protection Regulation (2016) อย่างลึกซึ้ง

ในอนาคต สช.ควรจัดทำแนวปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรา ๗ ในภาพรวม เนื่องจากการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยเป็นประเด็นสำคัญที่ควรสร้างความชัดเจน และมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กับ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ 

 

ปรับปรุงจากบทความตีพิมพ์ใน หมอชาวบ้าน ปีที่ 46 (ฉบับที่ 550) กุมภาพันธ์ 2568

NHCO Q&A