ฝรั่งแช่บ๊วย
โลกที่เปราะบางขึ้นทุกวัน ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง แผ่นดินไหว และสึนามิ กำลังเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนอย่างรุนแรง สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงเมื่อมีการวางแผนที่ไม่ดี ความยากจน และปัจจัยพื้นฐาน เช่นระบบสุขภาพ คมนาคมขนส่ง และการสื่อสาร กลายเป็นเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความเปราะบาง นำไปสู่ความสามารถที่ไม่เพียงพอในการรับมือกับภัยธรรมชาติและป้องกันไม่ให้เกิดภัยพิบัติ จุดเริ่มต้นของกรอบเซนได : เมืองเล็กที่จุดประกายแนวคิดใหญ่
ประชาคมโลกได้หารือแนวทางการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ นำไปสู่ กรอบเซนได เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Sendai Framework for Disaster Risk Reduction) พ.ศ. 2558 –2573 ในที่สุด ประชาคมโลกให้การรับรอง กรอบเซนได ในการประชุม Third World Conference on Disaster Risk Reduction ขององค์การสหประชาชาติ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2558 ณ เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น
แม้กรอบเซนไดไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่กรอบเซนไดทวีความสำคัญยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เมื่อภัยพิบัติภายใต้กรอบเซนได ตีความไม่ใช่เพียงภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ภัยพิบัติที่ไม่ใช่แค่เรื่องธรรมชาติ กรอบเซนได ขยายความหมายของภัยพิบัติ เป็น ๒ ด้านได้แก่
· ภัยจากธรรมชาติ ได้แก่ แผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม ภัยแล้ง โรคระบาด
· ภัยจากเทคโนโลยี ได้แก่ อุบัติเหตุในภาคอุตสาหกรรม ภัยจากสารเคมี/อุตสาหกรรม ภัยจากรังสี อุบัติเหตุนิวเคลียร์
ทั้งนี้ กรอบเซนไดยังคำนึงถึงภัยพิบัติขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ภัยพิบัติที่เกิดบ่อย และไม่บ่อยแต่รุนแรงมาก ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นฉับพลัน เช่น แผ่นดินไหว และแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น ภัยแล้ง รวมถึง ผลกระทบจากความล้มเหลวของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในช่วงภัยพิบัติ เช่น ระบบขนส่ง ระบบสื่อสาร ระบบสุขภาพ
จุดเปลี่ยนสำคัญ : ตั้งรับไม่พอต้องลดความเสี่ยง
ประชาคมโลกเรียนรู้ว่า แนวทางการจัดการภัยพิบัติแบบเดิมไม่เพียงพออีกต่อไป กรอบเซนได้เปลี่ยนแนวคิดจากการจัดการและตั้งรับภัยพิบัติ มาสู่การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยตั้งเป้าการลดและป้องกันความเสี่ยง 7 เป้าหมาย ภายใน พ.ศ. 2573
4 ลด ได้แก่ (1) ลดอัตราการเสียชีวิต (2) ลดจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ (3) ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (4) ลดความเสียหายจากภัยพิบัติต่อโครงสร้างพื้นฐานและการหยุดชะงักของบริการพื้นฐาน -
3 เพิ่ม ได้แก่ (1) เพิ่มจำนวนประเทศที่มีแผนยุทธศาสตร์การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในระดับชาติและระดับท้องถิ่น (2) เพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศพัฒนา เพื่อเสริมการดำเนินงานของประเทศที่ยังไม่พร้อมให้สามารถปฏิบัติตามกรอบการดำเนินงานนี้ (3) เพิ่มความพร้อมการใช้งานและการเข้าถึงระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่ครอบคลุมหลายประเภทของภัยพิบัติ รวมถึงข้อมูลและการประเมินความเสี่ยงจากภัยพิบัติสำหรับประชาชน
ผ่านไป 8 ปี กรอบเซนไดไปไกลแค่ไหน
การทบทวนครึ่งวาระของกรอบเซนได เมื่อ พ.ศ. 2566 พบว่า แม้มีความก้าวหน้าในการนำกรอบเซนไดไปปฏิบัติ แต่ผลกระทบจากภัยพิบัติกลับเพิ่มขึ้น เพราะประเทศต่างๆเผชิญกับปัจจัยกระตุ้นความเสี่ยงใหม่ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขยายตัวของเมืองที่ไม่มีการวางแผน และการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม
รายงานผลการทบทวนกรอบเซนได พบว่าโลกเรายังติดอยู่กับ 4 กับดัก คือ
(1) การลงทุนที่ไม่เพียงพอ และไม่สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่เพิ่มขึ้น ทำให้ไม่สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ
(2) ขาดความเข้าใจเรื่องความเสี่ยง ข้อมูลและสารสนเทศที่ด้อยคุณภาพ กรอบเซนไดขยายขอบเขตภัยพิบัติ ครอบคลุมทั้งภัยธรรมชาติและความเสี่ยงทางชีวภาพและเทคโนโลยี แต่ข้อมูลและการรายงานยังไม่ครอบคลุมข้อมูลความเสี่ยงทางเทคโนโลยีหรือความเสี่ยงที่ซ้อนกันมากนัก การเก็บข้อมูลแบบแยกย่อย เช่น แยกตามเพศ อายุ ความพิการ ฯลฯ มีจำกัด ทำให้ยากต่อการกำหนดเป้าหมายกลุ่มเปราะบางที่สุด รวมทั้งมีข้อมูลความเสี่ยงในระดับประเทศ แต่มี ข้อมูลระดับย่อยของประเทศไม่เพียงพอ เป็นอุปสรรคในการประเมินความเสี่ยงและการวางแผนในระดับประเทศ
(3) ธรรมาภิบาลและการทำงานแบบแยกส่วน วิกฤตการณ์ที่ซับซ้อน เช่น การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และความเสี่ยงที่เป็นระบบ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด และความผันผวนทางเศรษฐกิจ ท้าทายต่อโครงสร้างธรรมาภิบาลแบบดั้งเดิมที่ทำงานแบบแยกส่วน
(4) การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและท้องถิ่นยังจำกัด ในหลายประเทศ การมีส่วนร่วมของกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้หญิง เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มชนพื้นเมือง ในกระบวนการตัดสินใจยังมีจำกัด รวมทั้ง หน่วยงานท้องถิ่นหรือองค์กรชุมชนยังไม่สามารถเป็นผู้นำดำเนินงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติได้ ทำให้โอกาสในการใช้ความรู้ท้องถิ่นและการตอบ สนองต่อความต้องการที่แท้จริงของชุมชนถูกมองข้ามไป
ประเทศไทย กับเส้นทางตามกรอบเซนได
หลังจากที่ประเทศไทยรับรองกรอบเซนได พ.ศ. 2558 ได้มีการจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ตามกรอบเซนได ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จนมีแผนระยะ 6 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2564-2570 โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนดังกล่าว
ประเทศไทยยังมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 2 มติ ที่เกี่ยวกับภัยพิบัติ ตามความหมายภัยพิบัติของกรอบเซนได ได้แก่ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2554 เรื่อง การจัดการภัยพิบัติธรรมชาติโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์ กลาง ในปีมหาอุทกภัยของประเทศไทย แม้ว่ามติสมัชชาสุขภาพเรื่องนี้จะมาก่อนกรอบเซนได แต่สาระสำคัญของมติ ถือว่ามีมุมมองในการจัดการภัยพิบัติที่ก้าวหน้า ให้ความสำคัญกับงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่น ในการร่วมจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ เมื่อประเทศไทยเผชิญกับโควิด 19 ประเทศไทยก็มี มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2563 เรื่องการบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วม กรณีโรคระบาดใหญ่ เรียกร้องให้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการภาวะฉุกเฉินการแพร่ระบาดของโรค ที่มีองค์ประกอบครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อมองผลกระทบในวงกว้างมากกว่าด้านสุขภาพเพียงด้านเดียว
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของประเทศไทยเมื่อมีนาคมที่ผ่านมา หวังว่าประเทศไทยจะมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ว่าด้วยเรื่องการจัดการภัยพิบัติด้านนี้ ที่ผนวกกรอบเซนไดเข้าไปด้วย เพื่อเป็นสะพานเชื่อมการทำงานระหว่างหน่วยงานรัฐ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ที่มาถี่ขึ้น และรุนแรงขึ้น
Source :
1.https://www.undrr.org/implementing-sendai-framework/what-sendai-framework#
3.UNDP Thailand