องค์การสหประชาชาติ (United Nation : UN) คาดการณ์ว่าจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า ๖๕ ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นถึง ๑.๕ พันล้านคน หรือคิดเป็นราว ๒๒% ของประชากรทั่วโลก ภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ หรืออีก ๒๖ ปีข้างหน้า[1] การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรย่อมนำมาซึ่งความท้าทายมากมาย โดยจะเห็นได้จากรายงานระดับโลกเรื่องประชากรผู้สูงอายุของ UN เมื่อ ค.ศ. ๒๐๒๐ ที่ชี้ให้เห็นภาพว่ามีแนวโน้มที่ผู้หญิงสูงอายุจะอายุยืนกว่าผู้ชาย ยากจนกว่าผู้ชาย และต้องการการดูแลจากลูกหลานหรือคนรอบข้างมากกว่าผู้ชาย[2]
แต่ในขณะเดียวกันในความท้าทายก็มีโอกาสใหญ่หลวงรออยู่ โดยเมื่อ ค.ศ. ๒๐๒๐ องค์กรระดับโลกที่ชื่อว่า The Global Coalition on Ageing ได้ประมาณการณ์มูลค่าตลาดโลกของผู้สูงอายุและผู้ใหญ่ หรือ ที่เราเรียกว่า “Silver-Economy” หรือ “เศรษฐกิจผู้สูงวัย” จะอยู่ที่ราว ๑๗ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สิ่งนี้อาจนับว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ และเป็นตลาดที่ยังไม่เคยถูกเปิดให้ชัดเจนมาก่อน
ทั้งนี้ เศรษฐกิจผู้สูงวัย (silver economy) คือ ระบบเศรษฐกิจส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการและความจำเป็นสำหรับผู้สูงวัย ทั้งผลิตภัณฑ์ บริการ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ โดยผู้สูงวัยในที่นี้มักนับรวมผู้ที่มีอายุ ๕๐ ปีขึ้นไป[3]
โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ International Telecommunication Union (ITU) ได้ทำการศึกษาเมื่อ ค.ศ. ๒๐๒๑ เรื่อง Ageing in a Digital และพบว่าหากมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์และเข้าถึง ผู้สูงอายุก็มีแนวโน้มที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งนี้ในรายงานได้นำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสร้างเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้าถึงได้และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม[4] ครอบคลุมคนทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และมีประเด็นสำคัญคือ
๑.แก้ไขและทบทวนนโยบาย กฎหมาย กฎระเบียบ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ที่มีอยู่เดิม ให้มีความเหมาะสม เข้าถึงได้ และรวม ICT เข้าเป็นพื้นฐานการพัฒนานโยบาย/กฎหมาย กฏระเบียบ และทบทวนกรอบกฎหมายการสื่อสารในภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้บริการในภาวะฉุกเฉินถูกจัดสรรให้เหมาะสมและเข้าถึงได้โดยผู้สูงอายุ
๒.ตั้งคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบของผู้สูงอายุ เพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้ การเข้าถึง การจัดสรร ICT ที่เหมาะสม และจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ จังหวัด และพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการใช้ ICT ที่เหมาะสมและก่อให้เกิดสังคมสูงวัยที่มีสุขภาพดี
๓.การนำมาตรฐานทางเทคนิคและคุณภาพของการบริการ การเข้าถึง ICT มาใช้เพื่อรับประกันการใช้เทคโนโลยีโดยผู้สูงอายุที่มีภาวะทางประสาทสัมผัสและการรับรู้ตามวัย
๔.สร้างความเชื่อมั่นว่าคุณภาพของการบริการตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของผู้งสูงอายุ รวมถึงการใช้ภาษาที่เรียบง่าย ใช้ภาษาเทคนิคให้น้อย
๕.ประดิษฐ์แผนงานโครงการที่การันตีการเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีการสื่อสาร ในประเด็นสำคัญเช่น ๑) การเข้าถึงกิจกรรมทางสังคมเพื่อลดความเหงาของผู้สูงอายุ ๒) ฝึกอบรมความรู้เรื่องการเงินเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน และป้องกันไม่ให้เกิดผู้สูงอายุที่ยากจนโดยเฉพาะผู้สูงอายุผู้หญิงและเข้าถึง Social Protection ต่างๆ ๓) สร้างโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยเฉพาะผู้หญิงสูงอายุ ๔) ส่งเสริมความหลากหลายของกลุ่มวัย ยกระดับการพัฒนาสถานที่ทำงานให้น่าอยู่ และช่วยเหลือการหางาน ๕) การบูรณาการบริการสุขภาพและสังคมโดยยึดคลเป็นศูนย์กลาง รวมถึงผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมด้วย