Social Transformation สังคมแห่งความพร้อม ‘สูงวัย’ อย่างมีสุขภาวะ


VIEW: 109   SHARE: 0    

เราอาจคุ้นชินหรือได้ยินผ่านหูกันอยู่บ่อยครั้งว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่ สังคมสูงวัย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทว่าหากมองไปรอบๆ ตัว ก็คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สภาพแวดล้อมหรือหลายสิ่งหลายอย่างยังคงเหมือนเดิม ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ

            คนจำนวนไม่น้อยจึงไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นกับคำว่า สังคมสูงวัย สักเท่าใด สำหรับเรื่องสังคมสูงวัยนั้น เปรียบได้กับ ระเบิดเวลา ที่ค่อยๆ บ่อนเซาะและสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นในระยะยาว เทียบเคียงให้เห็นภาพก็อาจคล้ายคลึงกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เมื่อสายชนวนระเบิดลูกใหญ่นี้หดแคบเข้ามา ก็จะปรากฏผลกระทบเชิงลบอย่างรุนแรงในทุกมิติ

            แน่นอน เราคงไม่สามารถหยุดยั้งเวลาที่เดินไปข้างหน้าได้ แต่ก็ยังมีเวลามากพอที่จะ เตรียมความพร้อม รับมือกับแรงสั่นสะเทือนครั้งนี้ ไปพร้อมๆ กับการสร้าง สุขภาวะดี-คุณภาพชีวิตที่ดี ในระยะยาวให้กับคนไทยทุกคนได้

 

Social Transformation

            เมื่อพูดถึง สังคมสูงวัย สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อนเลยคือเรื่อง โครงสร้างประชากร ซึ่งการเข้าสู่สังคมสูงวัยนั้น อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ โครงสร้างประชากรขาดความสมดุล

          อ้างอิงข้อมูลการพยากรณ์จาก สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยกลายเป็น ‘สังคมสูงอายุ’ (Aged Society – มีผู้สูงอายุมากกว่า ๑๐% ของประชากร) ไปจนเลยปี ๒๕๗๖ ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยระดับสุดยอด’ (Super Aged Society - มีผู้สูงอายุมากกว่า ๒๘% ของประชากร)

            พบว่า ในปี ๒๕๘๓ หรืออีกเพียง ๑๕-๑๖ ปีข้างหน้านี้ มีความเป็นไปได้ที่ ประเทศไทยจะมีประชากรสูงอายุเกือบ ๑ ใน ๓ ของประชากรทั้งหมด

นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสังคม เมื่อจำนวน เด็กและแรงงานไทย ลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับสัดส่วนของ ผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ตรงนี้สะท้อนว่าในอนาคต สัดส่วนการพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานจะเพิ่มมากขึ้น

สำหรับสัดส่วนประชากรคิดเป็นร้อยละ (%) ของประชากรทั้งหมดในประเทศ ตามการคาดการณ์จากสภาพัฒน์ เป็นดังนี้

            ท่ามกลางสถานการณ์ที่จำนวนผู้สูงอายุขยายตัวมากขึ้น ประเทศไทยกลับถูกซ้ำเติมจากปัญหา เด็กเกิดน้อย

รายงาน World Population Prospects ๒๐๒๒ ของ องค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา เป็นปีที่ประชากรโลก เติบโตในอัตราที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ เป็นต้นมา และหากโฟกัสเข้ามาที่ประเทศไทย ตัวเลขของ ธนาคารโลก (World Bank) ชี้ว่า หากในปี ๒๕๐๘ ประเทศมีเด็กเกิด ๖ คน ในปี ๒๕๖๔ ประเทศไทยมีเด็กเกิดเพียง ๑.๓ คนเท่านั้น

มากไปกว่านั้น ตัวเลขปี ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีอัตราการตายมากกว่าอัตราการเกิด ยังไม่นับปัญหาที่ว่า เกิดน้อยแล้ว ยังไม่สมบูรณ์-พิการ ผิดปกติ หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอีก ทั้งหมดนี้ คือภาพอนาคตที่อยู่บนพื้นฐานของวิชาการ และมีความน่าจะเป็นอย่างยิ่ง

 

ภาระดูแลผู้สูงวัย อัตราเร่ง เด็กเกิดน้อย

            คงจินตนาการถึงผลพวงจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยและปัญหาเด็กเกิดน้อยได้ไม่ยาก สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ ก็คือ วัยแรงงาน จะต้องเผชิญกับวิบากอย่างสาหัสสากรรจ์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ประมาณการณ์ไว้ว่า ผู้สูงอายุกลุ่มรายได้ปานกลางในเขตเมือง ต้องมีเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณราว ๔.๓ ล้านบาท ส่วนเขตชนบทอยู่ที่ ๓.๔ ล้านบาท

กรณีที่เป็น ผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงจะต้องมีเงินเพื่อใช้ดูแลอีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าอุปกรณ์ ค่าจ้างบุคลากร ค่าไปพบแพทย์ โดยหน่วยงานภายใต้ คณะพาณิชย์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเมินค่าใช้จ่ายสำหรับดูแลผู้สูงอายุ ติดบ้าน จะอยู่ที่ปีละ ๑.๒ แสนบาท ค่าใช้จ่ายสำหรับดูแลผู้สูงอายุติดเตียง จะอยู่ที่ปีละ ๒.๓ แสนบาท

งานวิจัยยังพบอีกว่า ผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงส่วนใหญ่เป็น ‘บุตรสาว’ หรือ ‘ผู้หญิง’ ซึ่งในจำนวนนี้ต้องทำงานไปพร้อมกันด้วย แน่นอนว่าย่อมนำไปสู่ความเครียดที่สูงมาก และจำนวนไม่น้อยเลือก ไม่แต่งงานและ ไม่มีลูก’ กลายเป็นตัวเร่งสถานการณ์เด็กเกิดน้อยแบบทวีคูณ-งูกินหาง

งานวิจัยหัวข้อ “การครองโสดของผู้หญิงในยุคโลกาภิวัฒน์กับเศรษฐกิจในเมืองไทย” โดยนักวิจัยจากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๖๒ ชี้ว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจได้แก่ ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจต่อแรงงาน ฐานะทางเศรษฐกิจ มีผลต่อหน้าที่การงาน สถานะทางสังคม ระดับการศึกษา และความสามารถในการพึ่งพาตนเองทางสังคม รวมทั้งการวางแผนเกี่ยวกับการแต่งงานและมีบุตร ส่งผลต่อการตัดสินใจครองโสดของผู้หญิงไทย

 

ทุกส่วนเร่งขยับ ระดมมาตรการสอดรับ ผ่านนโยบายระดับชาติ

            ยังมีผลพวงอีกนับไม่ถ้วนจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางอุบัติการณ์เด็กเกิดน้อย อาทิเช่น ในอนาคตจะเกิดปัญหาด้านแรงงาน นำไปสู่ปัญหาต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ-ไม่มีคนทำงาน ภาคอุตสาหกรรมไม่มีกำลังการผลิต ภาพรวมของประเทศอาจมีรายได้ลดลง เช่นเดียวกับกำลังซื้อ เกิดปัญหาปากท้อง ปัญหาสังคม และคุณภาพชีวิตอยู่ประชากร ฯลฯ

วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการประชุมประจำปี ๒๕๖๖ ของสภาพัฒน์ ภายใต้เวทีเสวนา Inclusive Green Growth Transition ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงอายุสมบูรณ์แบบ แต่ยังไม่มีความพร้อมในหลากหลายด้าน เช่น สวัสดิการของภาครัฐที่ไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้

ที่สำคัญก็คือ เมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตลาดจะเล็กลงเรื่อยๆ และเมื่อตลาดเล็กลง ความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็จะลดลงวิรไท อธิบายว่า ในอนาคตอีก ๑๐ ปีข้างหน้า คนทำงาน ๑ คน จะต้องหารายได้ทั้งดูแลผู้สูงอายุ และจ่ายภาษีให้รัฐมาจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ หากไม่สามารถเพิ่ม Productivity ได้ ปัญหาสังคมผู้สูงอายุจะเป็นปัญหาใหญ่มากๆ

            การเข้าสู่สังคมสูงวัยและปัญหาเด็กเกิดน้อย จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังจะเขย่าประเทศชาติ ผลพวงสัมพันธ์กับทุกผู้ทุกคน รัฐบาลภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ดำรงตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข (สธ.) จึงได้ประกาศที่จะผลักดันให้เรื่องนี้เป็น วาระแห่งชาติ ภายในเร็ววัน เพื่อให้เกิดการบูรณาการทุกภาคส่วนในการร่วมกันแก้ไขปัญหา ทั้งมาตรการส่งเสริมการมีบุตร สร้างความสมดุลการทำงานกับการดูแลครอบครัว การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระในการเลี้ยงดูบุตร ตลอดจนการช่วยเหลือคนที่มีบุตรยาก ฯลฯ

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากนโยบายแห่งรัฐแล้ว การทำงานสานพลังอย่างสอดคล้องจากทุกหน่วยงาน-องค์กรทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายวิชาการ ภาคประชาชน-ประชาสังคม เอกชน ฯลฯ จะยิ่งหนุนเสริมให้ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น และหนึ่งในนั้นคือกลไกการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ด้วยเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ อย่าง กระบวนการสมัชชาสุขภาพ

 

            เมื่อปี ๒๕๖๖ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะหน่วยงานสานพลัง ได้รวมพลังภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันรับรองมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๖ การส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพในอีกด้านหนึ่ง กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็ได้เป็นเจ้าภาพในการระดมภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับรองมติสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติรองรับสังคมสูงวัย ปี ๒๕๖๖ ด้วยเช่นกัน

กระบวนการสมัชชาสุขภาพ และมติสมัชชาสุขภาพฯ ทั้ง ๒ วาระนี้ จะช่วยสนับสนุนและช่วยคลี่คลายสถานการณ์อันเขม็งเกลียวออกเป็นระบบ ช่วยเตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทย และช่วยให้คนไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างมีสุขภาวะดี และคุณภาพชีวิตที่ดี

 

สมัชชาสุขภาพ-ผู้สูงอายุฯ แก้ปมเด็กเกิดน้อย-สังคมสูงวัย

ในเวทีสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติรองรับสังคมสูงวัย ปี ๒๕๖๖ ที่จัดขึ้นโดยกรมกิจการผู้สูงอายุ  ร่วมกับ สช. และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ภายใต้แนวคิด “การบูรณาการที่มีประสิทธิภาพรองรับสังคมสูงวัย” เมื่อวันที่ ๔ เม.ย. ๒๕๖๖ ได้มีการร่วมกันพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบาย และมีฉันทมติรับรองด้วยกันจำนวน ๓ มติ

ทั้งนี้ ได้แก่ ๑. การบริหารจัดการแผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัยอย่างมีประสิทธิภาพ มีเป้าหมายให้ประชากรทั้งก่อนวัยสูงอายุ (๒๕-๕๙ ปี) และวัยสูงอายุ (๖๐ ปีขึ้นไป) มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้ง ๔ มิติ คือ มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยมีการกำหนดผลลัพธ์ ๓ ด้าน คือ ๑) เกิดแผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัยในระดับชาติ โดยใช้ประเด็นร่วมและกลไกการขับเคลื่อนร่วมกัน ๒) เกิดแผนบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุระดับพื้นที่ ๓) เกิดกลไกที่ช่วยสนับสนุนติดตามการดำเนินงาน ภายใต้แผนบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย

๒. การพัฒนาระบบและกลไกการบูรณาการบริการสังคมและสุขภาพเพื่อการพัฒนาผู้สูงอายุไทย มีเป้าหมายเพื่อบูรณาการทั้งระดับกระทรวง กรม กอง และจังหวัด ภายใต้ยุทธศาสตร์ร่วมกัน เพื่อมุ่งให้ความสำคัญกับการบริการที่ตอบสนองความต้องการต่อผู้สูงอายุอย่างแท้จริง โดยมีการกำหนดผลลัพธ์ให้มีประเด็นยุทธศาสตร์สำหรับบูรณาการบริการสังคมและสุขภาพเพื่อพัฒนาผู้สูงอายุ ให้มีแผนการทำงานร่วมกันในระดับจังหวัดและระดับพื้นที่ รวมถึงให้มีพื้นที่ตัวอย่างเพื่อทดลองใช้เครื่องมือ กลไกตามแผนบูรณาการทำงานร่วมกัน พร้อมกับกำกับและติดตามผล

๓. เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการรองรับสังคมสูงวัย มีเป้าหมายเพื่อยกระดับความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับสังคมสูงวัย โดยมีการกำหนดผลลัพธ์ คือการยกระดับความสามารถในการใช้งาน การเข้าถึง และการตระหนักถึงภัยคุกคามจากเทคโนโลยีดิจิทัลของผู้สูงอายุ พร้อมกันนี้ยังมุ่งเน้นส่งเสริมให้มีการวิจัยนวัตกรรมเพื่อสังคมสูงวัย เป็นนวัตกรรมที่ผู้สูงอายุสามารถใช้งานเพื่อช่วยเหลือและเป็นประโยชน์ต่อตนเองได้อย่างเหมาะสมและกว้างขวาง

ถัดมาในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๖ พ.ศ. ๒๕๖๖ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ ธ.ค. ๒๕๖๖ ภายใต้ประเด็นหลัก (ธีม) “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนได้ร่วมกับมีฉันทมติรวม ๓ ระเบียบวาระ หนึ่งในนั้นคือประเด็นเรื่อง “การส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ”

มติดังกล่าว มีกรอบทิศทางนโยบายในการที่จะพัฒนาเด็กให้เกิดและเติบโตเป็นทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพ อันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยการดำเนินการผ่าน ๑. การสร้างแรงขับเคลื่อนทางสังคมครั้งใหญ่ให้เห็นถึงความสำคัญ ๒. การมีนโยบายที่เป็นมิตรกับครอบครัว ที่เอื้อต่อการมีและดูแลบุตร ๓. การนำแนวคิดชุมชนนำ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้ในการเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก ๔. การพัฒนาระบบสนับสนุนเพื่อเป็นฐานในการวางนโยบายที่มีประสิทธิภาพในระยะต่อไป

วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒน์ ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาประเด็นฯ ระบุไว้ว่า ปัจจุบันคนคุ้นเคยกับคำว่าสังคมสูงวัย ว่าหมายถึงการมีจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น หากแต่ความจริงแล้วภายใต้บริบทนี้ยังมีความหมายว่าจำนวนเด็กที่เกิดใหม่นั้นลดลงด้วย โดยจากเดิมในอดีตที่ประเทศไทยมีประชากรเกิดใหม่ปีละหลักล้านคน ปัจจุบันเหลือจำนวนการเกิดเพียงปีละ ๕ แสนคนเท่านั้น

เธอระบุว่า ทางสภาพัฒน์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดทำแผนประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว ในการรองรับสังคมสูงวัย โดยประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงในร่างแผนดังกล่าว คือการส่งเสริมการมีบุตรในกลุ่มประชากรที่ต้องการมีบุตร ให้สามารถสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ ภายใต้ระบบที่เอื้อต่อการเกิดและการเลี้ยงดูเด็ก จึงทำให้ประเด็นนี้มีความสำคัญและถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในระเบียบวาระของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี ๒๕๖๖

ทั้งหมดนี้ถือเป็นภาพรวมของนโยบายสาธารณะ ที่เข้ามามีส่วนในการหนุนเสริมมาตรการหลักของภาครัฐอย่างเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น และเชื่อได้ว่าหลังจากนี้ก็กำลังจะทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เมื่อเรื่องนี้ได้กลายเป็น วาระแห่งชาติ ที่ทุกฝ่ายจะต้องเข้ามามีส่วนเดินหน้าในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เพื่อปลดชนวน ระเบิดเวลา ลูกนี้ก่อนที่จะสายเกินไป

NHCO Q&A