ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ "สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์" (Aged Society) อย่างเป็นทางการในปี 2566 โดยมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวนกว่า 13 ล้านคน คิดเป็น 20.08 % ของประชากรทั้งหมด สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดความท้าทายต่อระบบสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่ม "ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพัง" และ "ผู้สูงอายุที่ดูแลกันเอง" ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว และจากการคาดประมาณของกรมอนามัย พบว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียงจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ผู้สูงอายุในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวเผชิญกับความเปราะบางในหลายมิติ คือ
1.ด้านสุขภาพ: สมรรถภาพร่างกายเสื่อมถอยตามวัย และการขาดคนดูแลเพิ่มโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพ
2.ด้านเศรษฐกิจ: รายได้ลดลงจากการเลิกทำงาน ประกอบกับค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้น
3.ด้านสังคม: การขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการสนับสนุนจากครอบครัวหรือชุมชน ทำให้เกิดความโดดเดี่ยว
การเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยต้องการการจัดการเชิงระบบและโครงสร้างที่ครอบคลุมทุกมิติ การเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงการมีนโยบายเชิงรุกเพื่อป้องกันปัญหาการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวของผู้สูงอายุ การดำเนินการการพัฒนานโยบายดังกล่าวจะช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและความมั่นคงสำหรับผู้สูงอายุในสังคมไทยอย่างยั่งยืน อันเป็นเป้าหมายสำคัญของ สช. ในการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมสอดคล้องกับพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ตามมาตรา 6 และมาตรา 12 ที่เน้นการสร้างเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มประชากรที่มีความจำเพาะ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และสร้างระบบสังคมที่ยั่งยืน นโยบายดังกล่าวไม่เพียงตอบโจทย์เฉพาะกลุ่ม แต่ยังเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพและสังคมไทยในภาพรวมอีกด้วย