จังหวัดลำปางกำลังเผชิญความท้าทายสำคัญด้านสุขภาพ ทั้งการเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ความไม่เสมอภาคทางรายได้ และสภาพภูมิประเทศที่กว้างขวางซึ่งทำให้ประชาชนหนึ่งในสามอาศัยในพื้นที่ห่างไกล
ปัญหาเหล่านี้สร้างอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างชัดเจน โดยผู้ป่วยต้องแบกรับค่าใช้จ่ายแฝงตั้งแต่ 300 - 3,290 บาทต่อครั้งในการมารับบริการ ทั้งค่าเดินทาง ค่าอาหาร และค่าเสียโอกาสจากการประกอบอาชีพ บางรายต้องใช้เวลาเดินทางมากกว่า 10 ชั่วโมงเพื่อรับการรักษาเพียงไม่ถึง 15 นาที ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากจำใจต้องเลิกรักษากลางคัน
องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง (อบจ.ลำปาง) ซึ่งรับถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จาก 10 อำเภอ รวม 67 แห่ง จึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ริเริ่มโครงการวิจัย "การปรับใช้นวัตกรรมผสมผสานระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) สู่สถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ" โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีของการวิจัย เกิดผลลัพธ์เป็นระบบ iHealthCare ที่เชื่อมต่อแพทย์จากโรงพยาบาลชุมชนกับ รพ.สต. และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ทำงานใกล้ชิดประชาชน โดย อสม. จะบันทึกข้อมูลพื้นฐาน อาการเบื้องต้น ลงระบบ และนัดหมายให้ผู้ป่วยพบบุคลากร รพ.สต. และแพทย์ต่อไป
ผลการทดลองพบว่าผู้ป่วยมีความพึงพอใจระดับสูงสุดใน 3 ด้าน ได้แก่ การลดระยะเวลาและระยะทางในการเข้ารับบริการ การลดระยะเวลารอคอยพบแพทย์ และความพึงพอใจของผู้ป่วยที่เคยขาดความต่อเนื่องในการรักษาที่สามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้มากขึ้น
นอกจากความสำเร็จในจังหวัดลำปางแล้ว การจัดบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิโดยมีภาคชุมชนและ รพ.สต. เป็นศูนย์กลาง ยังขยายไปสู่อีก 5 จังหวัด ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ (ภาคเหนือ) ปทุมธานี (ภาคกลาง) ขอนแก่น และนครราชสีมา (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) สงขลา และภูเก็ต (ภาคใต้) รวมทั้งสิ้น 12 รพ.สต. โดยแต่ละพื้นที่มีการพัฒนานวัตกรรมที่โดดเด่นแตกต่างกันตามบริบทท้องถิ่น ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
ปฏิรูประบบสุขภาพท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงชีวิต ปชช.
ท่ามกลางความท้าทายด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น 6 อบจ. และ 12 รพ.สต. ได้ลุกขึ้นมาสร้างปรากฏการณ์ใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ในภาคเหนือ รพ.สต.บ้านร่มเกล้า ในเชียงใหม่ได้ใช้พลังชุมชนแก้ปัญหาการใช้ยาในผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ขณะที่ รพ.สต.แม่ข่า ใช้หลักการ "บ ว ร ส + ค" ผ่านกลไก "ข๋วงผญ๋า" และ "จ้อง" ดูแลกลุ่มเปราะบางอย่างครอบคลุม
ในภาคอีสาน รพ.สต.เมืองเพีย ที่ขอนแก่นสร้าง "ศูนย์โฮมฮักรักษ์สุขภาพ" ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ส่วนที่นครราชสีมา รพ.สต.โตนด จัดตั้งศูนย์ยืมอุปกรณ์ฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้าน และ รพ.สต.ตลาดแค ยกระดับเป็น CUP Split ให้มีแพทย์ตรวจทุกวัน
ที่ปทุมธานี รพ.สต.บ่อเงิน พัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล ภูเก็ตแก้ปัญหาเฉพาะถิ่นด้วยระบบเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินจากเกาะมะพร้าว และคลินิกทันตกรรมนอกเวลา "Dental by Heart" ที่ รพ.สต.ราไวย์ ขณะที่สงขลานำเทคโนโลยีมาใช้ผ่านระบบ iMed@home จัดทำแผนสุขภาพรายบุคคล
ความสำเร็จเหล่านี้เป็นบทพิสูจน์ว่าการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขสู่ท้องถิ่น พร้อมกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สามารถสร้างระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง เป็นธรรม และยั่งยืน ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง