ราวกับเสียงพลุที่ดังสนั่น และแสงนั้นก็ฉายไปทั่วทั้งผืนฟ้ายามค่ำคืน จากกรณีการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หลายพันแห่งทั่วทั้งประเทศในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา
แม้จะไม่จำเป็นต้องถกเถียงกันอีกถึงความจำเป็นและความเหมาะสมของการยกเครื่องระบบสุขภาพปฐมภูมิไปไว้ในการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร แม้กระนั้น ก็อย่างที่ผู้สันทัดกรณี หรือผู้ที่ติดตามสถานการณ์การถ่ายโอนภารกิจฯ ย่อมรับรู้รับทราบถึงปัญหาและความท้าทายที่เกิดมาโดยตลอดในห้วงเวลาที่ผ่านมาว่ายังมีอีกไม่น้อย
ทั้งเรื่องความขาดแคลนบุคลากร เรื่องคุณภาพและมาตรฐานในการให้บริการ เรื่องข้อจำกัดทางกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่เอื้อให้เกิดการระเบิดพลังของท้องถิ่นในการบริหารจัดการระบบสุขภาพ ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้คือความท้าทายที่จะต้องร่วมกันสานพลังในการปิดช่องโหว่ เพื่อทำให้ทิศทางของระบบสุขภาพท้องถิ่นเกิดความเข้มแข็ง และกลายเป็นฐานที่มั่นทางสุขภาวะให้กับประชาชนในระยะใกล้บ้านใกล้ใจ
ห้วงเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะหน่วยงานสานพลัง ได้พยายามที่จะลงไปเป็นส่วนหนึ่งในการปิดช่องว่างความท้าทายและปัญหาอันเกิดจากการถ่ายโอนภารกิจฯ ด้วยการทำโครงการวิจัยเพื่อการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่นผ่านพื้นที่ 12 รพ.สต. นำร่อง (Sandbox) ใน 6 อบจ. โครงการวิจัยศึกษาการยกระดับศักยภาพการรับมือกับภาวะวิกฤตด้านสุขภาพโดยชุมชน ซึ่งใช้พื้นที่กรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด จำนวน 17 ชุมชน เป็นพื้นที่ศึกษา รวมไปจนกระทั่งการศึกษาการปรับใช้ระบบ Telemedicine ในพื้นที่ รพ.สต. นำร่อง ภายใต้การสังกัดของ อบจ.ลำปาง
ภายหลังจากการศึกษาประเด็นต่างๆ สิ้นสุดลง นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และประธานศูนย์วิชาการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อเสริมพลังพลเมืองตื่นรู้ (ศสพ.) ซึ่งเป็นหัวหน้าชุดโครงการวิจัยทั้ง 3 โครงการที่กล่าวมาข้างต้น บอกว่า มาจนถึงวันนี้ สช. ภายใต้การขับเคลื่อนของ ศสพ. กำลังจะขยายขอบข่ายการดำเนินงานให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ โดยนำเอาองค์ความรู้ เครือข่าย จากพื้นที่นำร่อง มาสังเคราะห์ ต่อยอด และขยายผล ไปยัง อปท. อื่นๆ
ทั้งนี้ ดำเนินการภายใต้กลไกความร่วมมือของหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาคีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์ ‘การพัฒนาระบบสุขภาพท้องถิ่น’ ภายในกรอบระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2568–2570)
“สานพลัง” ขันอาสาเจาะลึกการขับเคลื่อนในหลักกิโลเมตรถัดไป ผ่านการพูดคุยกับ “นพ.ปรีดา” แบบลงลึกในรายละเอียด
ทิศทางการดำเนินงานต่อจากนี้ นพ.ปรีดา เล่าว่า จะต้องเริ่มต้นจากการสร้างฉันทมติระดับนโยบาย ผ่านการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นเรื่องระบบสุขภาพท้องถิ่นเพื่อสร้างสุขภาวะของประชาชน โดยร่วมมือกับ สสส. เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด ในช่วงเดือนมิถุนายนของปีนี้ ซึ่งจะมีการเชิญ อปท. จากทั่วทั้งประเทศให้ได้มาพบปะกัน ก่อนจะนำไปสู่การสร้างแผนยุทธศาสตร์ “ทศวรรษการพัฒนาระบบสุขภาพท้องถิ่น” ร่วมกัน ในระยะต่อไป
จากกรอบระยะเวลาของโครงการ ที่วางไว้ 3 ปี นั้น นพ.ปรีดา ให้ภาพว่า ในช่วง 6 เดือน – 1 ปีแรก จะเกิดการสังเคราะห์องค์ความรู้ และนำรูปแบบตัวอย่างต่างๆ ที่เกิดจากการดำเนินโครงการวิจัยในช่วงที่ผ่านมา ผ่านการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เพื่อนำ ‘ตัวแบบ’ ส่งมอบให้ อปท. ทั่วทั้งประเทศ เพื่อนำไปศึกษาและปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการบริหารงานระบบสุขภาพปฐมภูมิในพื้นที่ของตนเอง
ผสานกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นชุดใหม่ ซึ่งมี นายสมพร ใช้บางยาง เป็นประธาน พร้อมมี นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ และ น.ส.ปรานอม โอสาร หัวหน้า ศสพ. เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการฯ
“ทาง สช. จะมีการเสนอแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพท้องถิ่น รวมไปถึงการนำองค์ความรู้ เครือข่าย จากพื้นที่ต้นแบบ มาสรุปเป็นฐานข้อมูลตัวแบบ และนำเสนอไปยังคณะอนุกรรมการถ่ายโอนฯ หากทางคณะอนุกรรมการเห็นชอบ ก็จะส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถ. สำนักงาน ก.ก.ถ ฯลฯ เพื่อให้เกิดการกระจายรูปแบบเหล่านี้ให้ อปท. ในพื้นที่อื่นๆ นำไปดำเนินการได้เลยต่อจากนี้ ก็จะรีบดำเนินการพัฒนาศักยภาพของ อปท. ให้ได้ตามตัวแบบโดยเร็ว” นพ.ปรีดา ให้ภาพ
เมื่อกระบวนพัฒนาตัวแบบเสร็จสิ้นแล้ว ก้าวย่างต่อไป คือ การพัฒนา ‘สมรรถนะคนทำงาน’ ในระดับท้องถิ่นเพื่อเพิ่มความรู้ และทักษะในด้านนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ และการบริหารจัดการระบบสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ผ่านการสร้างหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง และผลักดันให้เกิดการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือและการสนับสนุนจากวิทยาลัยพยาบาลต่างๆ ซึ่งอยู่ภายใต้การสังกัดของสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) ที่มีอยู่ทั่วประเทศ
เมื่อถามถึงกรณีที่ สช. ได้มีการขับเคลื่อนเรื่องภาคีสานพลังพื้นที่เข้มแข็ง (ภสพ.) หรือชื่อย่อ “ภาคีอาสา” (Area Strengthening Alliance - ASA) ทั้ง 7 หน่วยงาน เพื่อผลักดันแผนงานการสร้างจังหวัดเข้มแข็งโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ผ่าน 5 จังหวัดนำร่อง (เชียงราย ขอนแก่น นครสวรรค์ ตราด และพัทลุง) ว่าจะมีส่วนในการเข้ามาหนุนเสริมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบสุขภาพท้องถิ่นได้อย่างไร?
นพ.ปรีดา ให้ภาพว่า แท้ที่จริงแล้วทั้ง 2 เรื่อง อาจไม่ได้เป็นสิ่งที่แยกขาดจากกันเสียทีเดียว เพราะในบางพื้นที่การดำเนินงาน อาจเกิดการซ้อนทับกัน ซึ่งจะสามารถช่วยกันหนุนเสริมภารกิจระหว่างกันได้
“ยกตัวอย่างเช่น ที่ จ.ขอนแก่น ก็อาจจะมีทั้งบริบทของการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิภายใต้หน่วยงานท้องถิ่นอย่าง อบจ. ในขณะเดียวกันก็เป็นหนึ่งในจังหวัดเป้าหมายของการขับเคลื่อนเรื่องภาคีสานพลังพื้นที่เข้มแข็ง หรือภาคีอาสาด้วย โดยดำเนินการคู่ขนานกันไป และหนุนเสริมกัน เพราะทั้งสองภารกิจนี้ มีมิติของการให้ความสำคัญกับพื้นที่เป็นหลักอยู่แล้ว” นพ.ปรีดา กล่าว
ท้ายที่สุดนี้ เป้าหมายของภารกิจการพัฒนาระบบสุขภาพท้องถิ่น คือ การยกระดับสมรรถนะและขีดความสามารถในมิติต่างๆ ทั้งในเรื่องของคน และระดับมาตรฐานการให้บริการทั้งในพื้นที่ของ รพ.สต. รวมไปถึงมิติด้านการบริหารจัดการของกองสาธารณสุข ซึ่งสังกัด อบจ. และคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.)
“ซึ่งจะทำให้ท้องถิ่นสามารถดูแลระบบสุขภาพในระดับปฐมภูมิ ให้ตอบสนองต่อปัญหาของประชาชน ผ่านการใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ในการแก้ไขปัญหา และลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการแก่ประชาชน สิ่งเหล่านี้คือเจตจำนงที่จะทำให้เกิดขึ้นในระยะ 3 ปีนี้” นพ.ปรีดา กล่าวสรุปในตอนท้าย