‘สงขลา’ กับแนวคิด ‘เติมสุขโมเดล’ ต่อยอดฐานทุนหนุน ‘ระบบสุขภาพท้องถิ่น’


VIEW: 51   SHARE: 0    

จ.สงขลา มีฐานทุนที่แข็งแกร่งเรื่องการทำงานบูรณาการร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน จนเกิดความเป็นเอกภาพในการทำงาน ทลายข้อจำกัดเรื่องการแยกส่วนกันทำ โดยมุ่งเป้าและยึดหลัก ‘เอาพื้นที่เป็นฐาน’ เอาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นตัวตั้ง แล้วจึงนำทรัพยากรต่างๆ ที่มีมาระดมสรรพกำลัง และร่วมกันคิดวิเคราะห์ในลักษณะ Think Tank  โดยพยายามทำให้อุปสรรคอันเกิดจากความต่างสังกัดของหน่วยงานเกิดขึ้นได้น้อยที่สุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ยิ่งทำให้ภาพข้างต้นนี้ชัดเจนขึ้น-จับต้องได้ ภายใต้ยุทธศาสตร์การทำงานของคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งที่เป็นทางการอย่างหน่วยงานภาครัฐ และไม่เป็นทางการอย่างภาคประชาสังคม โดยให้ชื่อกลไกนี้ว่า ‘เติมสุขโมเดล’

หนึ่งในรูปธรรมความสำเร็จล่าสุดของแนวคิดเติมสุขโมเดล คือการที่ทาง อบจ.สงขลา กำลังต่อยอดเรื่องเติมสุขโมเดลให้กลายเป็น “ศูนย์เติมสุข” ซึ่งเป็นการจัดระเบียบข้อมูลของ 11 หน่วยงานภายในจังหวัดให้เป็น ‘ฐานข้อมูล’ เดียวกัน  กลายเป็น ‘Data Center’ ข้อมูลของจังหวัด ซึ่งจะเป็นศูนย์บูรณาการฐานข้อมูลด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง จ.สงขลา เพื่อนำไปสู่การออกแบบนโยบายของภาคีเครือข่าย และจะกลายเป็นกลไกการประสานงานระหว่างหน่วยงาน ในการขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ ด้วย

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ ๒๕๖๘ กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดสงขลา ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนางานโปรแกรมปรับสภาพบ้านให้กับคนพิการติดเตียงสิทธิบัตรทองและการพัฒนาเพื่อสนับสนุนการบริการรถรับส่งสาธารณะรองรับผู้ป่วยไปพบแพทย์ โดยการสร้างฐานข้อมูลกลางและเซ็นเตอร์การประสานงานระดับจังหวัด เพื่อสนับสนุนระบบบริการร่วม โดยนำร่องใน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ควนเนียง อ.สะบ้าย้อย อ.เทพา อ.นาทวี ทั้งนี้ 2 ภารกิจดังกล่าว มีกลไกศูนย์เติมสุขเป็นตัวเชื่อมโยงในการขับเคลื่อน”

แน่นอนว่า ภาพการบูรณาการทำงานอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน โดยมีมิตรภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ดังที่ยกเพียงบางผลงานไปข้างต้นนั้น ไม่อาจสร้างได้ด้วยเวลาเพียงชั่วครู่ ทว่า ต้องอาศัยระยะเวลาในการบ่มเพาะการทำงานร่วมกันเป็นทีมมาอย่างต่อเนื่อง จึงน่าตั้งคำถามเพื่อถอดบทเรียนว่า จ.สงขลา มีรากความเป็นมาอย่างไร ถึงก่อให้เกิดฐานทุนที่เข้มแข็งดังว่า

 หนึ่งในคนที่น่าจะฉายภาพเรื่องนี้ได้ดีที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น ชาคริต โภชะเรือง มูลนิธิชุมชนสงขลา และผู้ประสานงานสมัชชาสุขภาพ จ.สงขลา ตัวแทนภาคประชาสังคม ที่ขับเคลื่อนการทำงานด้านสุขภาวะ โดยร่วมหัวจมท้ายกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มาอย่างยาวนาน

“มันคงต้องย้อนไปตั้งแต่ช่วง ปี 2547–2548 เกือบ 20 ปีที่แล้ว” เขาเริ่มต้น ก่อนจะย้อนรอยเหตุการณ์เป็นฉากๆ ตามลำดับว่า

ปี 2547 เกิดโครงการพัฒนาเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างกลไกการจัดการระดับจังหวัดที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ และสร้างกระบวนการเรียนรู้การทำงานอย่างมีส่วนร่วม ผนวกกับการร่วมดำเนินงานโดยใช้หลักคิดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งขณะนั้นยังเป็น สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) ภายใต้การนำของ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ สปรส.

ปี 2548 สมพร ใช้บางยาง ผู้ว่าราชการ จ.สงขลา ในขณะนั้น ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสร้างสุขภาพจังหวัดสงขลาแบบบูรณาการ ซึ่งเป็นคณะกรรมการหลายภาคส่วน เพื่อผลักดันให้เกิดแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา และติดตามการสร้างสุขภาพแก่คนสงขลาในระยะยาว โดยใช้งบบูรณาการระหว่าง อบจ.สงขลา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ สปรส.

ปี 2552 มูลนิธิชุมชนสงขลา ตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์สำคัญในการที่จะเชื่อมประสานความร่วมมือกับบุคคล เครือข่าย องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน ภาครัฐ เพื่อดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ซึ่งแน่นอนว่ามี “ชาคริต” เป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้ง และเขายังมีส่วนสำคัญในการร่วมผลักดันให้เกิดธรรมนูญสุขภาพระดับตำบล ขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ในพื้นที่ ต.ชะแล้ อ.สิงหนคร จ.สงขลา โดย "ธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้" ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2552 ก่อนจะกลายเป็นพื้นที่ธรรมนูญต้นแบบให้กับที่อื่นๆ ทั่วประเทศ

รายละเอียดของกระบวนการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือ ต้นทุนที่ทางสมัชชาสุขภาพ ได้เข้าไปเชื่อมโยง และมีมูลนิธิชุมชนสงขลา ทำหน้าที่เป็นกองเลขา ซึ่งเป็นหน่วยสนับสนุนในการทำงานให้ สช.  ในการเข้ามาขับเคลื่อนเครือข่ายความร่วมมือระดับจังหวัด และได้ทำงานร่วมกับทาง อบจ.สงขลา อย่างใกล้ชิดเกินกว่า 10 ปี

“จนมาถึงยุคนี้ ที่มีเรื่องการถ่ายโอน รพ.สต. มี กสพ. เข้ามา ทาง สช. นำโดย นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ก็ได้ลงมาทำวิจัยเรื่องการอภิบาลระบบ ในสงขลาด้วย อบจ.สงขลา ก็เลยยกระดับ (ฐานทุนเดิมที่มีอยู่) และต่อยอดเป็นแนวคิด เติมสุขโมเดล โดยนำคนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำงานร่วมกันมาโดยตลอด มาบูรณาการทำงานและเติมเต็มซึ่งกันและกัน โดยมี อบจ.เป็นแกนกลาง ขณะที่บทบาทของมูลนิธิชุมชนสงขลา คือการเข้าไปหนุนเสริมด้านการบริหารจัดการข้อมูลด้วยแอปพลิเคชัน imed @home” ชาคริต กล่าว

 

ชาคริต อธิบายต่อไปว่า แอปพลิเคชัน imed @home เริ่มต้นเกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก สช. และได้รับการออกแบบพัฒนาโดยมูลนิธิชุมชนสงขลา เริ่มใช้งานตั้งแต่ปี 2561 มีบทบาทในการหนุนเสริมการทำงานให้กับกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดสงขลา อบจ.สงขลา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ เพราะเป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการข้อมูล ด้วยวิธีการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานประชากรกลุ่มเปราะบางทางสังคมเป็นรายบุคคล ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยรอการฟื้นฟู ฯลฯ และนำข้อมูลมาประมวลผล เพื่อให้เห็นสถานการณ์ด้านสุขภาวะของประชากรรายนั้น หรือพื้นที่นั้นๆ เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในระดับปัจเจก หรือการออกแบบนโยบายสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาในภาพรวมสำหรับหน่วยงานภาครัฐ

 

“หัวใจความสำเร็จ ส่วนตัวคิดว่ามีอยู่ 3 เรื่อง เรื่องแรก คือการที่มีภาคประชาสังคมคอยเกาะติด ทำงานมาอย่างต่อเนื่อง เรื่องที่สอง คือการมีระบบสนับสนุนให้เกิดการคิดเชิงรุก เพื่อมองหาช่องว่าง แล้วออกแบบกลไก เครื่องมือ เพื่อไปช่วยสนับสนุน เรื่องสุดท้าย ก็คือฐานคิดของคนที่เชื่อในการพัฒนาเชิงระบบและการทำงานร่วมกันแบบเครือข่าย เมื่อคนที่มีวิธีคิดคล้ายกันแบบนี้ได้มาเจอกัน มันจึงจะไปด้วยกันได้ โดย 3 เรื่องนี้ ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ของตนเองได้” ชาคริต กล่าวทิ้งท้าย

 

NHCO Q&A