สร้างกลไกท้องถิ่น-ขับเคลื่อน ‘รถทันตกรรม’ เกิดรูปธรรม พัฒนาระบบสุขภาพช่องปาก


VIEW: 62   SHARE: 0    
เผยแพร่โดย: 
by
 กลุ่มงานสื่อสารสังคม

ที่ประชุม คสช. พิจารณาแต่งตั้ง “คณะกรรมการประสานและพัฒนาระบบสุขภาพช่องปากสำหรับประเทศไทย” ชุดใหม่ ซึ่งมี “ทพ.กฤษดา” เป็นประธาน หลังรับทราบผลการดำเนินงาน 4 ปี มีการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม ทั้งหนุนงานวิชาการ สร้างเสริมสุขภาพช่องปากระดับปฐมภูมิ ผ่านจังหวะการมีส่วนร่วมจากการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. พร้อมผลักดัน “รถทันตกรรมเคลื่อนที่” เพิ่มการเข้าถึงประชาชน

 

ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 2/2568 เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2568 ซึ่งมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประสานและพัฒนาระบบสุขภาพช่องปากสำหรับประเทศไทย ชุดใหม่ ซึ่งมี ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ เป็นประธานกรรมการ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี แทนชุดเดิมที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 21 เม.. 2568 พร้อมทั้งมีมติรับทราบถึงผลการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 4 ปีของคณะกรรมการฯ ชุดเดิม

 

สำหรับคณะกรรมการประสานและพัฒนาระบบสุขภาพช่องปากสำหรับประเทศไทย ชุดเดิมซึ่งมี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธานกรรมการ และ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ เป็นประธานกรรมการร่วม ได้รับการแต่งตั้งขึ้นตามคำสั่ง คสช. ที่ 5/2564 ลงวันที่ 22 เม.. 2564 เพื่อทำหน้าที่ประสานความร่วมมือในการร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาและบูรณาการการขับเคลื่อนงานระบบสุขภาพช่องปากของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดรับกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 พ.ศ. 2561 เรื่อง การคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการทันตกรรม ที่มุ่งให้ประชาชนทุกคนมีสุขภาพฟันและช่องปากที่ดี พร้อมได้รับสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นพื้นฐานทางทันตกรรมอย่างเท่าเทียมกัน

 

ทพ.กฤษดา เปิดเผยว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาทางคณะกรรมการฯ ได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดประชุมอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน และมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน 3 ชุด เพื่อประสานความร่วมมือในการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายและให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 1. คณะอนุกรรมการวิชาการสนับสนุนการประสานและพัฒนาระบบสุขภาพช่องปากสำหรับประเทศไทย สนับสนุนการพัฒนางานวิชาการ งานวิจัย และข้อเสนอเชิงนโยบาย รวมทั้งจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับภาคีเครือข่าย

2. คณะอนุกรรมการประสานและพัฒนาระบบสร้างเสริมสุขภาพช่องปากระดับปฐมภูมิ สนับสนุนการพัฒนากลไกขับเคลื่อนระบบสร้างเสริมสุขภาพช่องปากในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แบบมีส่วนร่วม 3. คณะอนุกรรมการประสานและพัฒนาระบบบริการรถทันตกรรมเคลื่อนที่ สนับสนุนการพัฒนาและขับเคลื่อนบริการรถทันตกรรมเคลื่อนที่ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง สามารถเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมได้อย่างครอบคลุมและเท่าเทียมมากขึ้น

ทั้งนี้ การดำเนินงานที่ผ่านมาของทางคณะกรรมการฯ รวมถึงอนุกรรมการ ทั้ง 3 คณะ ได้มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดข้อเสนอเชิงนโยบายใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. จัดตั้งคณะกรรมการสุขภาพช่องปากภายใต้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 2. การพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพช่องปากทุกด้าน เชื่อมโยงกับระบบข้อมูลสุขภาพ เช่น Health Data Center (HDC), Personal Health Record (PHR) 3. การพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพช่องปาก เช่น มาตรการภาษีน้ำตาลที่สนับสนุนให้คนไทยลดบริโภคน้ำตาล อันส่งผลดีต่อสุขภาพช่องปากและสุขภาพโดยรวม

นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสร้างเสริมสุขภาพช่องปากระดับปฐมภูมิระยะเปลี่ยนผ่านการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้ อบจ. ในปี 2566-2568 ที่มีผลการดำเนินงานสำคัญอีกหลายประการ เช่น การมีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านสุขภาพช่องปาก ระหว่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และ อบจ. ภายใต้คณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) รวม 35 จังหวัด พร้อมมีการจัดตั้งอนุกรรมการสุขภาพช่องปากภายใต้ กสพ. รวม 31 จังหวัด

รวมไปถึงการเกิดระบบข้อมูลสุขภาพช่องปากในรูปแบบ OHSP Dashboard ที่ให้ทันตบุคลากร และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสังกัด อบจ. สามารถนำไปใช้และเสนอเป็นแผนของ กสพ. ต่อไป ตลอดจนเกิดการพัฒนาระบบบันทึกข้อมูลช่องปากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก Child Oral Health เพื่อให้ทันตาภิบาลและครูพี่เลี้ยงของศูนย์เด็กเล็ก สามารถดึงข้อมูลไปกำกับติดตามประเมินผลรายบุคคล และจัดบริการสุขภาพช่องปากแบบมุ่งผลลัพธ์ใน รพ.สต. พื้นที่ต้นแบบ (Sandbox) 4 จังหวัด เพื่อลดปัญหาฟันผุในเด็กอีกด้วย

“หากมองย้อนหลังไป 30 ปี สถานการณ์ปัญหาสุขภาพช่องปากของประเทศไทยมีการลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แต่ในช่วง 10 ปีล่าสุดกลับไม่สามารถลดลงได้อีก และประชาชนกว่าร้อยละ 50 ยังคงมีปัญหาสุขภาพช่องปาก ทำให้เราจำเป็นต้องทบทวนปัญหา ซึ่งพบว่าการพัฒนาระบบบริการในระดับปฐมภูมิ จะมีส่วนสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปากได้ ควบคู่ไปกับการมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมป้องกัน การดูแลกลุ่มเด็ก การพัฒนาระบบข้อมูล และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพช่องปากที่ดี” ทพ.กฤษดา กล่าว

 

ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า สำหรับทิศทางการขับเคลื่อนงานของคณะกรรมการฯ ที่ผ่านมา ทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมทำหน้าที่สานพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผ่านกลไกและเครื่องมือต่างๆ เช่น สมัชชาสุขภาพ คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ฯลฯ รวมไปถึงการสนับสนุนให้กลุ่มเยาวชนและคนรุ่นใหม่ มีส่วนร่วมในการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายและนวัตกรรมสังคมเพื่อการดูแลสุขภาพช่องปากของประชาชน

ขณะที่ล่าสุดยังมีการจัดทำ MOU ร่วมกับ 10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันศึกษาวิจัยออกแบบพัฒนารถทันตกรรมเคลื่อนที่ และรถทันตกรรมเคลื่อนที่ไฟฟ้า (EV) เพื่อขับเคลื่อนบริการในระดับท้องถิ่น ให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางสามารถเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำร่องใน อบจ.เชียงใหม่ เพื่อให้การพัฒนาและขับเคลื่อนบริการรถทันตกรรมเคลื่อนที่ระดับท้องถิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

“การขับเคลื่อนบริการรถทันตกรรมเคลื่อนที่ นับเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องใหม่สำหรับท้องถิ่นหลายๆ แห่ง บนความท้าทายหลายประเด็น เช่น ความพร้อมด้านงบประมาณ กำลังคน ฯลฯ แต่โอกาสสำคัญจากการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้ อบจ. จะส่งเสริมให้ท้องถิ่นได้มีบทบาทในการบริหารจัดการปัญหาสุขภาพของพื้นที่ ที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประชาชน โดยมี กสพ. ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย กำกับดูแล และพัฒนางานด้านสาธารณสุขของ อบจ. ที่ได้รับการถ่ายโอน” นพ.สุเทพ กล่าว

NHCO Q&A