ที่ประชุม คสช. รับทราบผลการขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา” จากความร่วมมือระหว่าง ศธ.-สช. สู่การเดินหน้าสร้างข้อตกลง-กติกาที่ยอมรับร่วมกันในหลายสถานศึกษา พบช่วยลดอบายมุข-ปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพในโรงเรียนได้ พร้อมรับทราบความคืบหน้าของ “คณะกรรมการ NCITHS” ลุยศึกษา-ติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธาน ได้มีมติรับทราบความคืบหน้าการขับเคลื่อน ‘ธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา’ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมให้ข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนงานดังกล่าว
สำหรับความร่วมมือในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา ระหว่าง ศธ. กับ สช. ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2566 ซึ่งหลังจากนั้นได้มีความคืบหน้าของการดำเนินงานมาเป็นลำดับ อาทิ การจัดทำคู่มือให้สถานศึกษาต่างๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ ในการพัฒนาระบบสุขภาพของสถานศึกษาได้ตามบริบทและความเหมาะสม, การเสริมศักยภาพแกนนำขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาในสถานศึกษานำร่อง รวม 4 ภาค ซึ่งมีสถานศึกษาและหน่วยงานภายใต้ ศธ. เข้าร่วมกว่า 143 แห่ง เป็นต้น
ว่าที่ ร.ต.เจษฎาภรณ์ พรหนองแสน ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสถานศึกษา ให้เกิดระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย จิต ปัญญา และสังคม โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่างๆ และจัดให้มีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน ฯลฯ เพื่อหารือถึงปัญหาด้านสุขภาพ และกำหนดเป้าหมายที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับร่วมกัน
ว่าที่ ร.ต.เจษฎาภรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีสถานศึกษานำร่อง ที่ดำเนินการจัดทำและขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมแล้วจำนวนหลายแห่ง ตัวอย่างเช่น โรงเรียนสภาราชินี จ.ตรัง ประกาศใช้ ‘ธรรมนูญปัจจัยเสี่ยงด้านอบายมุขและสารเสพติดรอบสถานศึกษา’ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2567 ซึ่งช่วยให้การตรวจพบการใช้สารเสพติดของนักเรียนทุกระดับชั้น ลดลงจาก 32 คน เหลือเพียง 3 คน ภายในระยะเวลา 1 ภาคเรียนของการดำเนินงาน
นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างการขับเคลื่อนที่ถูกนำเสนอในที่ประชุม เช่น ธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและควบคุมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาโรงเรียนอนุบาลเขลางค์รัตน์อนุสรณ์ พ.ศ. 2567, ธรรมนูญปัจจัยเสี่ยงโรคที่มียุงเป็นพาหะของสถานศึกษา โรงเรียนบ้านแม่ออกผารู จังหวัดตาก พ.ศ. 2567, ธรรมนูญสุขภาพโรงเรียนสุขภาวะ 5 อ. สู่มาตรฐานสากล ตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้น
“ธรรมนูญสุขภาพถูกขับเคลื่อนไปยังสถานศึกษาในพื้นที่ต่างๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความสนใจ ความต้องการที่จะขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในสถานศึกษา เพราะธรรมนูญสุขภาพจะเป็นเครื่องมือในการทำให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมกันในการแก้ไข ซึ่งปัญหาที่สถานศึกษาพบขณะนี้มีทั้งเรื่องการป้องกันบุหรี่ไฟฟ้า ภาวะทางสุขภาพจิต รวมไปถึงเรื่องของอาหาร โดย สช. ก็มีแนวทางขับเคลื่อนธรรมนูญให้อยู่แล้ว ต่อไปสถานศึกษาก็สามารถนำรูปแบบไปใช้เป็นข้อตกลงในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน” ว่าที่ ร.ต.เจษฎาภรณ์ กล่าว
ขณะเดียวกันยังมีการขับเคลื่อนภาพรวมในระดับจังหวัด และระดับเขต เช่น ประกาศคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดอุตรดิตถ์ เรื่อง การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาของจังหวัดอุตรดิตถ์ฯ ซึ่งลงนามโดยผู้ว่าราชการจังหวัด, การลงนามความร่วมมือขับเคลื่อน “ธรรมนูญสถานศึกษาปลอดภัย-ปลอดเหล้า-ปลอดปัจจัยเสี่ยง” ระหว่างภาคีเครือข่ายในเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 11, การประชุมเสริมศักยภาพแกนนำขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาในสถานศึกษานำร่อง เขตตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เขตที่ 17 และ 18 เป็นต้น
ภายในวันเดียวกัน ที่ประชุม คสช. ยังได้มีมติรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (NCITHS) ซึ่งมีการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2567 เช่น การจัดการประชุมวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 4-5 พ.ย. 2567 สนับสนุนการจัดทำกรอบประเด็นการวิจัยด้านการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ รวมถึงการร่วมกับองค์การการค้าโลก (WTO) จัดฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยและประเทศต่างๆ ระหว่างวันที่ 6-8 พ.ย. 2567 เป็นต้น
ด้าน ดร.ทิพิชา โปษยานนท์ รองเลขาธิการ คสช. กล่าวว่า คณะกรรมการ NCITHS ได้รับการแต่งตั้งโดย คสช. นับตั้งแต่ปี 2552 ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2551 ซึ่งเสนอให้จัดตั้งกลไกนี้ขึ้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งด้านบวกและด้านลบ รวมถึงมีหน้าที่พัฒนาข้อเสนอหรือให้คำปรึกษาต่อ คสช. หรือกลไกเจรจาการค้าระหว่างประเทศของรัฐบาล
สำหรับกรรมการ NCITHS ชุดปัจจุบันนั้นมี ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เช่น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ คณะกรรมการอาหารและยา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ฯลฯ ร่วมเป็นกรรมการ
ทั้งนี้ NCITHS ได้มีแผนการดำเนินงานในปี 2568 ไม่ว่าจะเป็น การจัดฝึกอบรมด้านการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งนักวิชาการ และเครือข่ายภาคประชาสังคม, การจัดการประชุมวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ ประจำปี 2568 ในเดือน พ.ย. 2568 โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นการสนับสนุนความเท่าเทียม นวัตกรรม และความยืดหยุ่นเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน, การพัฒนาแผน Business Model ในการจัดตั้งศูนย์วิจัยเรื่องการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ รวมถึงการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย และจัดเวทีสาธารณะเกี่ยวกับความผันผวนของนโยบายการค้าระหว่างประเทศต่อระบบสุขภาพของประเทศ