15 ปีธรรมนูญภาคใต้ “จากชะแล้ แลปัจจุบัน” | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ธรรมนูญ เอ่ยชื่อนี้แล้วหลายคนมักมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ไกลตัว เนื่องจากไปติดกับคำว่า “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งถือเป็นกติกาใหญ่ในการบริหาร ปกครอง กำหนดกรอบอำนาจหน้าที่และเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนทุกคน ขณะเดียวกันเนื้อในบางด้านก็ขัดกับข้อเท็จจริงกระทั่งกลายเป็นวิกฤตได้ด้วยเช่นกัน 

แท้จริงแล้วคำว่า ธรรมนูญ นำไปปรับใช้ได้หลายรูปแบบ โดยเฉพาะในภาคใต้ได้นำไปวางแนวทางการพัฒนาพื้นที่ไว้อย่างหลากหลาย เช่น ธรรมนูญชีวิต ธรรมนูญลุ่มน้ำภูมี ธรรมนูญองค์กร (มัสยิด) ส่วนพื้นที่ที่ดำเนินการก็มีตั้งแต่ ธรรมนูญระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด ส่วนชื่อที่ใช้เรียกขานก็แตกต่าง เช่น ฮูกุมปากัต ชันชี สัญญาใจ สัญญาประชารัฐ ข้อตกลง กติกาทางสังคม บันทึกความร่วมมือ เป็นต้น 

คำว่า ธรรมนูญสุขภาพ จึงถือว่าเป็นนวัตกรรมของไทย ในฐานะเครื่องมือปฏิรูประบบสุขภาพ เป็นกรอบ แนวทาง เป็นข้อตกลงร่วมกันของชุมชนที่มีต่อภาพอนาคต กระทั่งเป็นเครื่องมือสนับสนุนในการจัดทำแผนสุขภาพที่มีทิศทางร่วมกัน
 

ธรรมนูญภาคใต้


นิยามของคำว่า ธรรมนูญสุขภาพ จึงหมายความถึง ข้อตกลง ความฝัน ร่วมกันของคนในชุมชน ที่อยากเห็น อยากเป็นอยากมี เป็นภาพพึงประสงค์ เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีทั้งทางด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านปัญญาและทางด้านสังคม คุณค่าของธรรมนูญสุขภาพตำบลคือ เป็นภาพอนาคตที่คนในตำบลร่วมกันคิด กำหนดเป็นการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน เชื่อมโยงคน หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ในหมู่บ้าน เป็นการบ่งบอกว่าคนในตำบลมีความรักและมีความสามัคคีกัน

ในวงแลกเปลี่ยน “15 ปีธรรมนูญภาคใต้ จากชะแล้แลปัจจุบัน” ซึ่งจัดที่ตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง โดยมีผู้แทนและผู้นำในตำบลที่ประกาศใช้ธรรมนูญมาร่วม เช่น นาทอน เกตรี ปากน้ำ ควนโดน สตูล / กอตอตือร๊ะ หน้าถ้ำ แป้น ปัตตานี / ชะแล้ แค สงขลา / ร่มเมือง นาท่อม เกาะหมาก พัทลุง / ท่าพญา นาตาล่วง ตรัง / เขาพัง พุมเรียง เชี่ยวหลาน สุราษฏร์ธานี / พระพรหม นครศรีธรรมราช / เกาะกลาง กระบี่ ได้แลกเปลี่ยนถึงกระบวนการขับเคลื่อนกติกา ข้อตกลง ธรรมนูญไปสู่ความสุขของชุมชน
 

ธรรมนูญสุขภาพ


ถอดความจากผู้นำหลายท่าน พบว่าหัวใจของการทำธรรมนูญสุขภาพ คือ กระบวนการมีส่วนร่วม ความรู้สึกเป็นเจ้าของ นำเอาต้นทุนทางสังคม ภูมิปัญญาที่มี ความฝันในการอยากให้ชุมชนเป็นอยู่ ปัญหาที่อยากแก้ไข มาออกแบบร่วมกันกำหนดเป็นภาพอนาคตของคนในตำบลร่วมกัน หลักการแบบนี้ คือ “การทำนโยบายสาธารณะ” นั่นเอง

เปรียบธรรมนูญเป็นพลุ ดอกแรกของการจุดประกายให้เกิดการตื่นตัว ไปทั่วประเทศอย่างเป็นทางการ เกิดขึ้นที่ “ชะแล้” อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งเราเรียกที่นี่ว่าเป็น “แห่งแรกของประเทศไทย” 
ธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล ประกาศใช้เมื่อ 3 พฤษภาคม 2552 ใช้รูปแบบและแบ่งหมวดหมู่ตามกรอบใหญ่ๆ จำนวน 10 หมวด 60 ข้อ ขับเคลื่อนโดยแบ่งระบบสุขภาพชุมชนออกเป็น 14 ระบบ 
 

ธรรมนูญภาคใต้


มีแกนนำแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ เรียกว่ามีพัฒนาการมาหลายยุค ได้แก่ เกิดจากแรงขับในชุมชนที่อยากเห็นคนชะแล้มีความสุข การกำหนดความสุขร่วม การประสานภาคีมาเป็นเพื่อนร่วมเรียนรู้ อยู่บนความคาดหวังจากคำว่าแห่งแรกของประเทศไทย มีกลไกสำนักขับเคลื่อนธรรมนูญ ถอดบทเรียนปรับปรุงพัฒนา มีเพื่อนเกลอมาดูงานนำไปขยายผลไม่ต่ำกว่า 100 แห่ง 

ชะแล้ในยามนี้ ผู้ที่นำขับเคลื่อนธรรมนูญ แม้มีหลายท่านที่ไม่ได้เข้าร่วมก่อการตั้งแต่ตอนตั้งต้น แต่กลับพบว่ากติกาที่เขียนไว้ มาตรการที่ระบุ คนในชุมชนยังถือปฏิบัติเป็นธรรมเนียมอยู่เสมอๆ 
 

ธรรมนูญชุมชน


ปัจจุบันในภาคใต้ มีธรรมนูญที่ประกาศใช้แล้วไม่ต่ำกว่า 100 แห่ง ต่างมีการขับเคลื่อนธรรมนูญที่โดดเด่นเฉพาะด้านต่างกัน ได้ชวนเข้าร่วมเวทีถอดบทเรียนการขับเคลื่อนธรรมนูญ ได้แก่ ชันชีที่นาทอน สตูล ธรรมนูญลดปัจจัยเสี่ยง (บุหรี่) ตำบลตรังมายอ ปัตตานี  ธรรมนูญรองรับสังคมสูงวัยตำบลท่าพญา ตรัง ธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ “เขาพัง”  สุราษฏร์ธานี ธรรมนูญการจัดการท่องเที่ยวชุมชนตำบลหน้าถ้ำ ธรรมนูญสุขภาพบาโงยซือญาตี ยะลา 

พื้นที่ตำบลเหล่านี้ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนกระบวนการขับเคลื่อน การเชื่อมประสานงานกับหน่วยงาน การประสานแผนยุทธศาสตร์ และการดำเนินการตามมาตรการข้อตกลงที่ร่วมกันกำหนดขึ้นมา รวมถึงได้มาแลกเปลี่ยนถึงกระบวนการสร้างความเป็นเจ้าของธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนและสอดคล้องกับความต้องการร่วมกันของชุมชนอย่างแท้จริง
 

ธรรมนูญภาคใต้

 

ธรรมนูญภาคใต้

 

ธรรมนูญภาคใต้

 

ธรรมนูญภาคใต้

 

ธรรมนูญภาคใต้

 

รูปภาพ
ธรรมนูญภาคใต้