- 24 views
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเคาะผ่าน ร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับใหม่ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเพื่อประกาศเป็นพิมพ์เขียวภาพอนาคตระบบสุขภาพไทยในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า เตรียมแผนหนุนหน่วยงานและองค์กรสุขภาพทั่วประเทศ ใช้เป็นกรอบแนวทางกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ดูแลสุขภาพประชาชน ป้องกันภัยคุกคามสุขภาวะ
เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๙ การประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ ๒/๒๕๕๙ มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วย ศ.เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธาน ณ ห้องประชุม ๓๐๑ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ พ.ศ.... ตามที่คณะกรรมการทบทวนธรรมนูญฯ ที่มี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นประธานเสนอ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ที่ให้มีการทบทวนธรรมนูญฯ ทุก ๕ ปีเพื่อให้มีเนื้อหาสาระทันสถานการณ์
ทั้งนี้ ธรรมนูญฯ ฉบับแรกประกาศใช้ในปี ๒๕๕๒ ส่วน ร่างธรรมนูญฯ ฉบับที่ ๒ นี้ได้ผ่านกระบวนการทบทวนยกร่างกว่า ๑ ปี โดยใช้หลักการข้อมูลวิชาการเชิงประจักษ์ หลักการมีส่วนร่วม หลักการสร้างความเป็นเจ้าของ และหลักการสร้างการรับรู้และเรียนรู้ของสังคม และผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านจากทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ/วิชาชีพ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยมีผู้เข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นกว่า ๒,๐๐๐ คน และมีหน่วยงาน/องค์กรต่างๆ ให้ข้อเสนอแนะเป็นเอกสารกว่า ๑๐๐ องค์กร
พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า ร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ พ.ศ.... มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบสุขภาพไทยในอนาคต เพราะจะเป็นกรอบแนวทางและทิศทางให้หน่วยงาน/องค์กรต่างๆ นำไปใช้สร้าง สุขภาวะ ให้กับประชาชน โดยหลังจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเห็นชอบแล้ว จะเร่งเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนรายงานให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติและวุฒิสภาทราบ ก่อนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ซึ่งตามมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ กำหนดให้ธรรมนูญฯ ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีผลผูกพันหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้นำไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
“ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ ได้แสดงถึงแนวโน้มของ สถานการณ์ ที่อาจมีผลกระทบต่อระบบสุขภาพคนไทยในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า ทั้งปัจจัยบวกและลบ กำหนด หลักการสำคัญและภาพที่พึงประสงค์ของระบบสุขภาพ ในสถานการณ์ข้างต้นตามหมวดต่างๆ ของระบบสุขภาพ รวมทั้งสิ้น ๑๗ หมวด ซึ่งองค์กรต่างๆ สามารถนำธรรมนูญฯ ฉบับนี้ไปใช้ใน ๔ วิธี คือ ๑) หน่วยงาน องค์กรรัฐสามารถนำไปใช้เป็น กรอบและแนวทาง พัฒนานโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานผ่านการจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดินหรือโครงการ ๒) องค์กรสุขภาพต่างๆ นำไปขับเคลื่อนให้เกิดรูปธรรมตามเนื้อหาสาระที่เป็นเป้าหมายของ ภาพพึงประสงค์ร่วม ๓) ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำไปเป็นหลักการทำ ธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ เพื่อเป็นกติกาหรือข้อตกลงร่วมกันในชุมชน และ ๔) นำเนื้อหาสาระไป สื่อสาร เพื่อให้สังคมเห็นภาพระบบสุขภาพในอนาคตที่ตรงกัน และร่วมกันผลักดันให้ถึงเป้าหมายตามบทบาทของตน”
หลักการสำคัญของร่างธรรมนูญฯ ฉบับนี้ คือ กำหนดให้สุขภาพเป็น สิทธิขั้นพื้นฐาน ของทุกคน ขณะเดียวกันบุคคลก็ต้องมีบทบาทในการดูแลสุขภาพทั้งของตนเองและครอบครัว หลีกเลี่ยงพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม โดยรัฐมีหน้าที่ส่งเสริม คุ้มครองและสนับสนุนบุคคลให้ดูแลสุขภาพ และยึดหลักการพึ่งตนเองตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วย ขณะที่การกำหนดนโยบายสาธารณะต่างๆ จะต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสุขภาพ โดยนำแนวทาง “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” (Health in All Policies) มาใช้ เพื่อให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดี อีกทั้งระบบสุขภาพที่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำ มุ่งสร้างเสริมสุขภาพทั้งทาง กาย จิต ปัญญา และสังคม รวมถึงมีหลักประกันและคุ้มครองสุขภาพประชาชนที่จะนำไปสู่สุขภาวะที่มั่นคงและยั่งยืน โดยครอบคลุม คนทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย
ทั้งนี้ ร่างธรรมนูญฯ ฉบับที่ ๒ ให้ความสำคัญอย่างมากกับบทบาทและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการระบบสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ทั้งชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาควิชาการ/วิชาชีพ และหน่วยงานรัฐ โดยในแต่ละหมวดได้กำหนดภาพพึงประสงค์ที่มีต่อบทบาทภาคส่วนต่างๆ ที่มีต่อระบบสุขภาพในอนาคตไว้ด้วย
ท่านสามารถดูภาพที่เหลือโดยกดที่นี่
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143